วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

ลี้ลับสองฝั่งโขง...

ลี้ลับสองฝั่งโขง...


ก่อนอื่น ขอยกเรื่องราวของการระลึกชาติซึ่งเล่าขานจนเป็นที่รู้จักกันดีในแถบลุ่มน้ำสองฝั่งโขงมาเป็นเรื่องนำ คือเรื่องของ หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรี บางระจัน จ.สิงห์บุรี ผู้มี อตีตังสญาณ และคุณธรรมสูงส่งที่คนไทยเคารพรัก ท่านจำอดีตชาติได้มาตั้งแต่เด็กแล้ว นอกจากนี้ยังระลึกย้อนไปอีกไกลถึงสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งได้ร่วมทำบุญตักบาตรพระอรหันต์เจ้า ๕๐๐ รูป เมื่อคราวทำปฐมสังคายนา และยังเคยช่วยในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธองค์ด้วย ในลำดับต่อมาไม่ว่าเกิดในแคว้นใด ที่ไหน เป็นใคร และตายเมื่อใดก็จำได้หมด และที่สองฝั่งโขงนี้ได้ท่องเที่ยววนเวียนเสวยภพชาติมาไม่น้อยเลย
ในชาตินี้ท่านมาเกิดกับพี่ชายในอดีตซึ่งเคยรักและตามใจน้อง พอตอนอายุราว ๑๐ ขวบ ถูกพ่อเฆี่ยนตีก็ถึงกับตะโกนว่าพ่อว่า
พ่อโกหก พ่อโกหก
พ่อสงสัยจึงถามว่า
ทำไมลูกพูดแบบนี้
ทีแรกท่านไม่ยอมบอกแต่พอแม่เข้าไปปลอบถามว่าทำไมจึงได้เล่าเรื่องอดีตชาติให้แม่ฟังว่า
พ่อไม่รักษาคำพูด ว่าจะไม่ทอดทิ้ง ไม่ตี ไม่ดุ แต่พ่อยังหลงตีลูกอีก ตีลูกก็ถูกน้องชาย น้องชายมาเกิดด้วยพี่ชายก็ไม่รู้จัก
เรื่องพระไตรปิฏกนี้แม้ไม่ได้เรียนก็รู้และจำได้ไม่ลืมเพราะได้ เรียนรู้ คัดลอก ท่องจำ สร้าง และชำระ มาหลายภพชาติแล้ว 
สำหรับเศษกรรมเรื่องผู้หญิงยังได้บอกเล่าไว้เป็นธรรมสังเวชว่า ในชาติหนึ่งนั้นเป็นชายหนุ่มที่นึกพอใจหญิงสาวบ้านใกล้เคียงจึงเข้าไปพูดคุยด้วย แต่ถูกฝ่ายหญิงพูดลำเลิกท้าวความไปในอดีตชาติว่า
ในชาตินั้นท่านเป็นผู้ทำให้ดิฉันถูกทุบตี ถูกจับผูกทรมานให้อดอาหารจนท้องกิ่วตาย พอมาชาตินี้จะมารักดิฉันทำไม
ต่อมาท่านระลึกได้ว่า ในอดีตหนึ่งนั้นเป็นสมภารเจ้าวัด วันหนึ่งขณะนอนป่วยได้มีสุนัขตัวเมียได้มาลักลอบกินอาหารที่เด็กวัดเก็บไว้ ท่านร้องบอกเด็กวัด พวกเด็กวัดจึงไล่ตีแล้วจับไปผูกไว้กับรั้วให้ห่างจากที่สมภารนอนป่วย ด้วยความที่เด็กวัดห่วงแต่ความเจ็บป่วยและยุ่งยากวุ่นวายกับการมรณภาพของสมภาร ทำให้ลืมนึกถึงสุนัขทำให้มันต้องอดอาหารและตายลงอย่างทรมาน เมื่อมาระลึกได้อย่างนั้นจึงทำให้ท่านเกิดความสลดสังเวชใจยิ่งนัก


..หลวงปู่เคยเล่าเอาไว้ว่า... ไม่ต่ำกว่า ๗ ชาติมาแล้วที่ท่องเที่ยวเสวยภพชาติอยู่สองริมฝั่งโขง
(๑) น้องน้อย (คุณทวดลอยระลึกชาติ)

        เรื่องน้องน้อยนี้  ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันดีของชาวบ้านในละแวก ตำบลนาคูและตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานราวสามชั่วคนแล้วแต่ก็เป็นเรื่องราวที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง  มีพยานรู้เห็นกันมากและก็ยังฝังอยู่ในความทรงจำของลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากคุณทวด ลอย
        คุณยายทวด ลอย ท่านมีเชื้อสาย ชาวผู้ไท(หรือภูไท) ซึ่งสืบเชื้อสายมาทางเมืองวังฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  เดิมนั้นเล่าขานกันว่าอพยพลงมาจากนาน้อยอ้อยหนู  ก่อนที่ท่านจะอพยพมาอยู่บ้านหว้าน ตำบลนาคู นั้น  ท่านอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหล่านายอซึ่งอยู่ใกล้เมืองวังอันเป็นถิ่นเมืองคนผู้ไทที่อยู่ติดกับเมืองลาว  มาอยู่ประเทศไทยสมัยที่เริ่มมีพระราชบัญญัติให้ใช้นามสกุล
        เรื่องราวของคุณทวดนั้นนอกจากจะรับฟังจากคำบอกเล่าของท่านเองแล้วก็ยังได้รับคำยืนยันจากชาวบ้านที่เป็นบ้านเดิมคือคนบ้านเหล่านายอและคนที่อพยพมาบ้านหว้าน  เพราะความหลังของท่านนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้  ทั้งเป็นเรื่องที่ลี้ลับพิสดาร น่าสงสาร และน่าประทับใจ
        ท่านเกิดมาในครอบครัวชาวไร่ชาวนาธรรมดาที่หมู่บ้านเหล่านายอที่อยู่ฝั่งซ้าย  พอจำความได้  ท่านก็พร่ำพูดถึงแต่เรื่องราวในอดีตชาติ  ในชาตินี้พ่อแม่ตั้งชื่อให้ท่านว่า ลอย แต่ท่านบอกว่าชาติก่อนนั้นท่านชื่อ ลา   อยู่กับพ่อแม่และพี่สาวซึ่งอยู่หมู่บ้านในคุ้มที่ไกลกันออกไป  พอพูดอย่างนี้แล้วก็รบเร้าให้พ่อแม่พากลับไปเยี่ยมบ้านเดิม
        พ่อกับแม่สังเกตดูลูกก็เป็นคนสติสมบูรณ์ดีทุกอย่างซ้ำยังพูดจาฉะฉานกว่าเด็กทั่วไป  หลายๆคนที่ได้ยินได้ฟังก็อยากจะพิสูจน์ความจริง  พ่อแม่ก็เลยพาไปตามที่เด็กหญิงว่า
        พอไปถึง  เด็กหญิงลอยก็แสดงท่าทีว่าจดจำสิ่งแวดล้อมที่นั่นได้ทุกอย่างและคุ้นเคยมาก  ไปที่บ้านของคนที่บอกว่าเป็นพ่อแม่เก่าแล้วก็พวกพี่สาว  พอพบกันก็ทักทายได้ถูกต้องทุกคนเล่นเอางงไปตามๆกัน  เธอพูดถึงเรื่องราวสมัยที่เกิดเป็นสาวลา  บอกว่าเป็นน้องคนสุดท้องเกิดมาอาภัพเป็นคนขาลีบ  มีโรคประจำตัว  ไม่ได้แต่งงานกับใคร  อยู่กับพ่อแม่  อยู่กับพวกพี่ๆ  รักและผูกพันกับพวกพี่สาวมาก  เขาไปไหนๆก็ตามพวกพี่เขาไป  ต่างฝ่ายต่างพากันอัศจรรย์ใจมากทั้งพ่อแม่เก่าและพ่อแม่ใหม่  มีการพิสูจน์คือเอาของใช้เก่าๆออกมาให้ดูหลายชิ้น เช่น พวกกำไล แพรพับ เสื้อผ้าและของใช้ต่างๆเด็กหญิงลอยก็ชี้ได้ถูกว่าอันไหนของเขา  แม้กระทั่งที่อยู่ที่กิน หนทางไปมา เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น แม้แต่เรื่องส่วนตัวเล็กๆน้อยๆก็ยังจำได้
        นับเป็นเรื่องราวไม่คาดคิดที่ดูค่อนข้างอัศจรรย์และเหลือเชื่อแต่ทุกคนก็เชื่อ  เพราะเรื่องที่บอกนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงทุกอย่าง  ไม่มีใครอีกแล้วที่จะจดจำเรื่องราวมากมายทั้งหมดได้ละเอียดลออเท่ากับเจ้าตัวของเขาเอง  ต่างคนต่างก็ร้องให้ด้วยความรักและคิดถึงกัน  ก็ถือกันว่าเป็นพ่อแม่พี่น้องกันจริงๆ
        เมื่อพวกพี่สาวถามถึงเรื่องราวของความตายและการเวียนกลับมาเกิด  เด็กหญิงลอยก็ได้เล่าถึงเรื่องราวของชีวิตหลังความตายให้ฟังบอกว่า
        เมื่อตายด้วยโรคฝีมะเร็ง  เขาก็เอาไปฝังที่ป่าช้าก็อยู่ที่นั่น  ที่ป่าช้านั้นจะอยู่กันเป็นหมู่บ้าน ซึ่งบ้านนั้นมีลักษณะเป็นรูอยู่บ้านใครบ้านมัน  อยู่กันเยอะ  เมื่อตายแล้วนี่วิญญาณก็ยังรู้ตัวดี  ยังจดจำครอบครัวความหลังได้ทุกอย่าง  ยังรักใคร่ผูกพันมีความโศกเศร้าโหยหาคิดถึงทุกคนทางบ้านเป็นที่สุดแต่ก็มาที่บ้านไม่ได้เพราะว่ามีผู้รักษาเขตมาห้ามไม่ให้เข้าหมู่บ้าน  เวลาพวกพี่สาวเขาไปนาไปสวนก็วิ่งตามร้องเรียกพวกพี่ๆเขาก็ไม่ได้ยิน  พูดกับเขาๆก็ไม่พูดด้วย  เขาไม่รู้ไม่เห็น  ก็เสียใจ  เวลาเขาเดินกลับบ้านก็ตามหลังเขาไป  พอไปถึงเขตบ้านก็มีผู้รักษาเขตมาห้ามไม่ให้เข้าไปกับพวกพี่ๆ



        มีอยู่วันหนึ่ง  พวกพี่ๆเขาพากันไปสวนเดินผ่านป่าช้าคิดถึงน้องก็ส่งเสียงเรียกว่า
        ลาเอ้ย..  ไปสวนอ้อยกับพี่นะพี่จะเอาอ้อยให้กิน
        ได้ยินเสียงพี่เรียก  ดีใจที่สุด..  วิ่งตามพวกพี่ๆเขาไป  เขาไปในสวนอ้อย  พอเขาตัดเอาอ้อยเสร็จแล้วก็พากันเดินกลับแต่เขาไม่ได้เอาอ้อยให้  เขาลืม  ก็ขอเขาๆก็ไม่ได้ยิน  ทำยังไงๆก็พูดกันไม่รู้เรื่องเลยไปเขย่าต้นไม้  เขาตกใจกลัวกันใหญ่ว่าผีหลอกก็พากันวิ่งหนีก็วิ่งตามพวกพี่ๆ  ตามมาจะเอาอ้อย  ตามมาเรื่อยๆก็พอดีปลายแหลมของใบที่ยอดอ้อยทิ่มเข้ามาที่ตาเจ็บปวดมาก  ก็เสียใจร้องให้กลับไปที่ป่าช้า
        ถึงเทศกาลที่มีงานบุญเพ็ญเดือนแปดและเดือนสิบก็คือวันสารทซึ่งทางภาคอีสานจะเรียกว่าบุญข้าวสาก บุญห่อข้าว หรือบุญข้าวประดับดิน  ชาวบ้านพร้อมใจกันทำบุญใหญ่อุทิศหาคนตาย  ทั้งพ่อแม่และพวกพี่สาวต่างก็ตั้งใจทำอาหารห่อข้าวและทำขนมทำบุญอุทิศไปให้ลาน้องน้อยคนสุดท้องด้วยความคิดถึง   วิญญาณของลาที่ป่าช้าก็ได้รับและได้กินของพวกนั้น 
หลังจากนั้นก็รู้ตัวว่าจะถึงวาระมาเกิดก็มา  มาด้วยกันกับวิญญาณอีกดวงหนึ่ง  แต่มาแล้วก็หวนกลับไปสำรวจดูที่ป่าช้าอีกครั้ง  ไปดูบ้าน  ก็เห็นบ้านของวิญญาณอีกดวงที่มาด้วยกันว่าบ้านเขายังดีอยู่เขาก็เลยต้องอยู่ต่อ  แต่ว่าบ้านของลาซึ่งเป็นรูของลานี่มันตื้นเขินขึ้นมาแล้วก็เลยมา  มาอยู่กับพ่อแม่ใหม่  พอมาอยู่ก็มาเกิดเป็นเด็กหญิงลา  เกิดมาชาตินี้มีอาการสามสิบสองครบถ้วน
        หลังจากได้มาเยี่ยมพ่อแม่เก่าแล้วก็ยังคงอยู่กับพ่อแม่ใหม่แต่ก็มีการไปมาหาสู่กับครอบครัวเดิมโดยตลอด  เมื่อคิดถึงก็กลับไปหาเยี่ยมเยียนกันและเรียกหากันตามฐานะเดิม  พอโตเป็นสาวก็มีรูปร่างหน้าตาสวยมีหนุ่มมาหลงรักขอแต่งงานก็สู่ขออยู่กินกันตามประเพณี  พออพยพมาอยู่ฝั่งไทยก็ได้ลูกชายก็คือคุณตาเกตุ  สามีนั้นมีผู้คนนับหน้าถือตามากจนทางราชการได้แต่งตั้งให้เป็นคุณพระดูแลการปกครองอยู่ในละแวกนี้
        เรื่องราวชีวิตหลังความตายและการกลับชาติมาเกิดนี้เป็นเรื่องที่คุณทวดลอยจดจำได้เสมอ  ไม่ว่าตอนที่ท่านยังเป็นเด็กหรือโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือแก่ชราลงตามอายุขัยท่านก็ไม่เคยลืม  เป็นความทรงจำที่กระจ่างชัดและพิสูจน์ได้อย่างแท้จริง  เพราะได้รับรู้ถึงสภาวะของการเวียนว่ายตายเกิด  คุณทวดจึงเชื่อกฏแห่งกรรมและหมั่นเอาใจใส่ในการสร้างบุญสร้างกุศลอยู่เสมอทั้งยังได้สอนลูกหลานให้ตั้งอยู่ในคุณความดีสืบต่อๆมา


(๒)            สัจจะสองกำพร้า


        หมู่บ้านโพนสวาง ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อราวๆหกสิบกว่าปีที่แล้วยังมีสภาพเป็นบ้านป่าแวดล้อมไปด้วยขุนเขาและป่ารกที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม  อยู่ห่างจากเส้นทางการคมนาคม  การติดต่อกับโลกภายนอกก็จะมีแต่การเดินทางโดยทางเกวียน ขี่ช้าง ขี่ม้า หรือไม่ก็เดินด้วยเท้าเท่านั้น
        ณ ที่หมู่บ้านแห่งนี้  มีเด็กหญิงกำพร้าสองคนคือ เสงี่ยม กับ รูป (คำพื้นเมืองออกเสียงว่าลูบ)เป็นเพี่อนกันตั้งแต่ยังเล็ก  ทั้งสองเกิดในปีไล่เลี่ยกัน  เสงี่ยมเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗  รูปนั้นเกิด พ.ศ.๒๔๗๖  รูปอายุมากกว่าเพียงปีเดียว  คบหากันเป็นเพื่อนสนิทมีความเห็นอกเห็นใจกันเพราะต่างก็มีสภาพที่เป็นเด็กกำพร้าว้าเหว่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากญาติผู้ใหญ่เรื่อยมาจนโตเป็นสาวอายุได้ ๑๗ ๑๘ ปี  เวลาไปไหนมาไหนรูปกับเสงี่ยมก็มักจะไปด้วยกันไม่ว่าจะไปทำงานหรือว่าไปเที่ยวเล่น  ใครๆในหมู่บ้านก็รู้ว่าเป็นคู่หูกัน
        สภาพชนบทในภาคอีสานนั้นแม้ว่าในฤดูฝนถึงหน้านาฝนฟ้าชุ่มฉ่ำดีแต่พอตกแล้งน้ำตามไร่นาห้วยหนองคลองบึงก็แห้งขอดไปหมด  มองเห็นแต่ผืนดินแตกระแหงสุดลูกหูลูกตาภายใต้เปลวแดดระยิบร้อนระอุ  น้ำในบ่อที่ทางอีสานเรียกว่า น้ำสร้าง ที่ชาวบ้านตักมากินมาใช้นั้นก็อยู่ไกลและไหลช้า  กว่าจะซึมออกมาให้พอตักได้ก็ต้องใช้เวลานาน  ชาวบ้านจะไปเฝ้ารอตักน้ำหาบกลับมาบ้านหลายเที่ยวกว่าจะได้พอประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ  ในบางช่วงเวลาที่แล้งหนักชาวบ้านถึงกับต้องเข้าคิวรอเฝ้าน้ำกันอยู่จนดึกดื่น
        อยู่มาวันหนึ่ง  รูปกับเสงี่ยมก็ชวนกันไปรอตักน้ำที่สร้างเจื่อนหรือบ่อน้ำเจื่อนที่นอกหมู่บ้าน  พอหาบถังเปล่ามาถึงบ่อน้ำเห็นน้ำในบ่อยังมีอยู่น้อยก็พากันวางถังเปล่าที่หาบมานั้นลงเพื่อรอคอย  ..แดดในยามบ่ายแผดเผาร้อนเหงื่อไหล เห็นใต้ต้นไทรที่จอมปลวกใกล้ๆนั้นมีร่มไม้เย็นดีก็ชวนกันไปนั่งพักรอ  นั่งพักไปก็คุยกันไป  คุยไปคุยมาก็วกเข้ามาหาเรื่องความตาย  ก็อาจจะเป็นเพราะว่าทั้งสองนึกไปถึงพ่อแม่  ไปถามใครๆเขาก็บอกว่าตายไปแล้ว  ตายไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย  ไปอยู่ไหนก็ไม่มีใครรู้  บางคนบอกว่าไปเป็นผี บางคนบอกว่าไปขึ้นสวรรค์ บางคนก็ว่าไปเกิดใหม่  ดูๆไปไม่มีใครที่จะบอกเรื่องนี้ได้จริงๆ 
ทั้งสองคนสนใจเรื่องนี้มาก  หัวอกอันเดียวกัน  ก็จึงคิดสัญญากันที่ใต้ต้นไทรตรงจอมปลวกนั้นว่า  ...ถ้าใครตายก่อนก็จะมาบอกผู้ที่ยังอยู่ว่าความตายนั้นเป็นอย่างไร...  ก็ตกลงสัญญากัน 
        เสงี่ยมพูดจาประสาซื่อว่า
        ฉันยังไม่อยากตาย  อยากจะอยู่ไปอีกนานๆ
        ส่วนรูปนั้นดูตั้งใจจริงมาก  พูดอย่างแสดงความจริงใจว่า
        ให้ฉันตายก่อนก็ได้  แล้วฉันจะกลับมาบอกเธอ
        .....................................
        จากวันนั้น  การดำเนินชีวิตประสาชาวชนบทก็ยังคงเป็นไปเรื่อยๆ  ทำไร่ ทำนา ทำสวน  นานๆจะมีงานบุญประเพณีสักครั้ง  การทำไร่ในสมัยนั้นก็มักจะไปทำอยู่ตามเชิงเขา  เสงี่ยมกับรูปมีไร่อยู่ใกล้กันคืออยู่ใกล้กับถ้ำกกม่วง(กก เปลว่า ต้น คือถ้ำต้นมะม่วง) ตรงภูสันจะก้อ(ส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน)  แถวนั้นเป็นป่าทึบที่เนื้อดินยังอุดมสมบูรณ์  รูปเป็นคนขยัน เช้าขึ้นมาก็ห่อข้าวเหนียวใส่กะหยังคือตะข้องสะพายบ่าถือเสียมขึ้นไปบนภูไปดายหญ้าอยู่คนเดียว  ส่วนเสงี่ยมจะไปช้าหน่อยเพราะมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกๆให้น้าสาวและคุณยายก็มักจะตักเตือนอย่างเข้มงวดกวดขันเสมอว่า
        จะไปจะมา  โตเป็นสาวเป็นนางแล้วไปไหนให้มีเพื่อน  ให้รู้จักระวังตัว
        ตอนสายของวันนั้น ชาวบ้านหลายคนก็พากันขึ้นไปทำไร่บนภู  พอผ่านไปที่ไร่ของรูปก็ต้องแปลกใจที่ไม่เห็นรูปดายหญ้าอยู่ที่นั่น  สังเกตดูรอบบริเวณนั้นเห็นผิดสังเกตก็ตกใจไปตามๆกันเพราะเห็นมีแต่เสียมที่ใช้ดายหญ้าตกอยู่และปรากฏว่ามีรอยเท้าของเสือขนาดใหญ่เต็มไปหมดตามพื้นดิน  ก็คิดกันว่ารูปอาจจะโดนเสือกัดแล้วลากไปกินเสียที่ไหนแล้วก็ไม่รู้  คนที่เห็นก็แตกตื่นกันใหญ่ไปเรียกผู้ใหญ่บ้านเรียกพวกผู้ชายช่วยกันออกค้นหาตามป่าแถบนั้น  พากันร้องเรียกตามหากันอยู่นานจนต่างคนต่างเหนื่อยอ่อนก็ไม่พบ  ในที่สุดก็มานั่งชุมนุมคุยกันอยู่ก็พอดีน้าเซ็งแกกลับมาจากเถียงนา(กระต๊อบที่นา)ของแกที่เชิงเขาเข้ามาฟังเขาคุยกัน  ก็บอกกับทุกคนว่า 
ตอนอยู่ที่เถียงนาฉันนอนกลางวันแล้วก็หลับฝันไปว่า  รูปมาบอกว่าเขาโดนเสือกัดตาย  เสือลากไปกินแล้วก็เอาซากศพไปซ่อนไว้ที่ง่ามขอนไม้แดงในป่า 
ทุกคนได้ยินแล้วก็แปลกใจว่าเป็นไปได้รึเปล่าที่รูปมันตายไปแล้วเป็นผีมาบอกในฝัน  ในที่สุดก็ตกลงใจกันออกค้นหาอีก  ต่อมาก็ได้เจอศพที่ง่ามขอนไม้แดงอย่างที่มาบอกในฝันจริงๆ  สภาพศพนั้นยับเยินอย่างน่าสยดสยอง  ..เสือได้ลากไส้แล้วก็เครื่องในออกมากินจนหมดแล้วก็ยังกินเนื้อสะโพก  เนื้อสะโพกข้างหนึ่งนั้นหายไป..  ทุกคนก็เลยช่วยกันเก็บศพมาที่หมู่บ้าน
        ต่อมาก็จึงได้ทำพิธีฝังกันจนเป็นที่เรียบร้อย  เพราะตามประเพณีนั้นถือกันว่าผีตายโหงนั้นต้องฝังโดยเร็ว  ฝ่ายเสงี่ยมได้ยินข่าวของรูปแล้วทั้งตกใจกลัวและเสียขวัญมาก  นึกสงสารสมเพชเวทนาเพื่อนที่ต้องมาตายอย่างสยดสยอง  รู้สึกสูญเสียในใจจนทำอะไรไม่ถูก  พองานศพผ่านไปได้เจ็ดวันเสงี่ยมก็ฝันถึงรูป  ในฝันนั้น เห็นรูปอยู่ในชุดเสื้อผ้าที่ใส่ไปทำไร่  ได้กลิ่นสาบสางซึ่งเป็นกลิ่นสาบศพที่รุนแรงมาก  รูปมาบอกว่า
       ฉันตายไปแล้ว  ตายไปเพราะถูกเสือกัดกิน  เสือตัวนี้ ในอดีตมันเป็นคนรักเก่าที่อาฆาตพยาบาทแล้วยังต่อว่าอีกว่า ทำไมไม่ไปงานศพฉัน  ตอนฝังศพนั่นชาวบ้านเขาให้เสื้อผ้าไปเยอะแยะเลย
        เสงี่ยมสงสัยถามว่า
        ได้เสื้อผ้าไปเยอะแยะแล้วทำไมยังใส่ชุดนี้อยู่ล่ะ
        ก็เอาไปแบ่งคนอื่น  แบ่งกันไป
พอมาบอกอย่างนั้นแล้วรูปก็กลับไปป่าช้า  เสงี่ยมสะดุ้งตื่นขึ้นอย่างอกสั่นขวัญแขวน  ขนาดตื่นขึ้นมาตั้งสติดีแล้วก็ยังได้กลิ่นสาบศพไม่หาย  พอเล่าเรื่องให้คนในบ้านรู้ก็ตกใจกลัวกันไปตามๆกัน  ญาติพี่น้องเป็นห่วงเสงี่ยมมากกลัวจิตใจจะไม่ปกติ  ก็เลยทำขวัญผูกแขนเรียกขวัญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว
        วันเวลาผ่านไป  ชาวบ้านโพนสวางก็ยังไม่ลืมเรื่องนี้  คุณยายของเสงี่ยมนั้นเป็นคนใจบุญมักจะคอยสั่งสอนให้เสงี่ยมรู้จักการบุญสุนทาน  ตอนเช้าก็ให้ใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ พ่อแม่ บรรพบุรุษ และญาติสนิทมิตรสหายเสมอ  ถึงเพ็ญเดือนเก้าเดือนสิบก็ไม่ลืมทำบุญใหญ่อุทิศไปให้อยู่เป็นประจำ
        ในเวลาต่อมาเสงี่ยมก็ฝันเห็นรูปอีก  รูปมาบอกว่า
        ของกินที่เธอทำบุญอุทิศไปให้นั้นน่ะได้รับทุกอย่าง  ตอนนี้ก็อยู่เมืองผีอยู่ที่ป่าช้านั้นเอง
        มาคราวนี้ เสงี่ยมก็ยังได้กลิ่นสาบศพอยู่แต่ว่ากลิ่นสาบจางลงกว่าแต่ก่อนมาก  ก็รู้ดีว่าเพื่อนนั้นน่ะตายไปแล้วเลยถามว่า
        อยู่ที่เมืองผีนี่อยู่ยังไง
        ก็อยู่เป็นบ้านในหมู่บ้านนี่แหละ  แล้วก็จะไปเที่ยวตามจุดต่างๆ  ของกินที่ได้รับนี่ได้รับจากที่เธอทำบุญไปให้มากกว่าทุกคน
        รูปใช้คำว่าไปเที่ยวตาม จุด  ไม่ได้พูดว่างานบุญที่นั่นที่นี่ซึ่งเสงี่ยมก็ไม่ค่อยจะเข้าใจนัก 
        ความฝันครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เสงี่ยมตกใจกลัวมากเหมือนคราวก่อนเพราะก็พอทำใจได้บ้างแล้ว  เสงี่ยมยังคงใช้ชีวิตประสาชาวชนบทโดยมีคุณยายคอยอบรมสั่งสอน  หลังจากที่รูปจากไปได้ประมาณเกือบปีรูปก็ได้มาเข้าฝันเสงี่ยมเป็นครั้งสุดท้าย  เสื้อผ้าที่รูปสวมใส่ก็ยังเป็นชุดเดิม รูปมาบอกว่า
        ฉันมาหาเธอเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว  ถึงเวลาที่จะมาเกิด  รูปก็จะมาอยู่กับผู้หญิงที่ชื่อสอนที่อยู่คุ้มบ้านใต้
        พอรูปบอกเท่านั้นก็ไป  เสงี่ยมตื่นขึ้นมาก็ยังแปลกใจไม่หายแล้วก็ได้ยินเสียงคนเขาพูดกันว่า
        นางสอนคนบ้านใต้เจ็บท้องจะคลอดลูกแล้ว
        ก็ประหลาดใจที่เหตุการณ์มาพ้องกันเข้าพอดี 
        เมื่อนางสอนคลอดลูกชาวบ้านหลายคนก็ต้องแปลกใจอีกครั้งว่าทำไมเด็กที่เพิ่งเกิดมาจากท้องแม่นี่ถึงได้มีรอยแผลเป็นที่สะโพกคล้ายรอยเสือกัด  คนที่ได้ฟังเสงี่ยมเล่าความฝันต่างๆก็เชื่อว่าดวงวิญญาณของรูปนี่ได้กลับมาเกิดใหม่แล้วเพราะความฝันนั้นก็ตรงกับความจริง  พ่อแม่ของเด็กได้ตั้งชื่อให้เด็กว่า โล้ เป็นเด็กหญิงน่ารักน่าเอ็นดู  พอโตมาเริ่มจะสังเกตหน้าตาคนได้เวลาอุ้มไปเจอเสงี่ยมทีไรเด็กนั้นก็จะทำท่าตกตะลึงจับจ้องมองดู  จ้องมองดูคล้ายๆว่าจะจำได้  ต่อมาพอพูดได้ก็จะบอกกับพ่อแม่อยู่เรื่อยว่า
        จะไปหาเสงี่ยม  จะไปหาเสงี่ยม  จะไปเที่ยวเล่นกับเสงี่ยม
        พ่อแม่ได้ยินก็รู้ว่าลูกจำอดีตชาติได้จึงรู้สึกเป็นห่วงลูกมาก  กลัวจะเป็นเด็กที่ผิดปกติผิดผู้ผิดคน กลัวอายุจะสั้น กลัวไปต่างๆนานา  ก็เลยหาวิธีทำเป็นเล่ห์กลให้ลืมความหลัง เช่น พาลอดไปตามใต้ถุนน้ำครำบ้างอะไรต่างๆนานาจนกระทั่งเด็กพูดถึงเรื่องนี้น้อยลง  แต่ไม่ว่ายังไงพอได้เจอกับเสงี่ยมเขาก็จะทำท่าสะดุดใจอยู่เสมอ
        เรื่องสัจจะสองกำพร้านี้ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าจากประสบการณ์จริงร่วมสมัยอีกเรื่องหนึ่ง  ทุกวันนี้ คุณยายโล้ยังมีชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านโพนสวาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนคุณยายเสงี่ยมนั้นอยู่ที่หมู่บ้านสร้างค้อ กิ่งอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร


ผลงานของ : ชุนคำ  จิตจักร

ไม่มีความคิดเห็น: