วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

มรดกผีมอญ

...เที่ยวไปในยามโพล้เพล้.....

มรดกผีมอญ

โดย ชุนคำ  จิตจักร



.....ในวิถีอันยาวนานของคนมอญ  ไม่แน่ว่า แหวนทองเหลืองเก่าๆ แค่วงเดียวหรือแค่ช่อดอกเข็มในงานศพ  ก็อาจนำพาเราส่งผ่านกระแสใจให้รำลึกย้อนไปได้ถึง ตุง เสาหงส์ และกลิ่นหอมของกุหลาบเมาะลำเลิงอันสูงส่งในอดีต...



เส้นทางล่องเรือ
หลายๆ ท่านที่เคยไปเที่ยวไหว้พระ  อาจเคยรู้จักเส้นทางล่องเรือแถบชานกรุงดี  โดยเฉพาะ เส้นทาง เกาะเกร็ด คลองลัดเกร็ด และละแวกใกล้เคียง  การเริ่มต้นเดินทางนั้นปกติก็มักจะเริ่มต้นที่ท่าน้ำปากเกร็ด ซึ่งจะมีเรือหางยาวให้เช่า หรือไปขึ้นเรือที่วัดสนามเหนือที่อยู่ใกล้ตลาดปากเกร็ด  ส่วนการเลือกวัดที่จะไปเที่ยวไหว้พระนั้นขึ้นอยู่กับท่านเอง  เพราะในชุมชนมอญเองก็มีวัดอยู่มาก เช่น วัดปรมัยยิกาวาส วัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อม วัดฉิมพลี วัดตาล วัดเตย วัดตำหนักเหนือ วัดบางจาก วัดท้องคุ้ง วัดโปรดเกษ วัดบ่อ วัดบางพูดใน วัดบางพูดนอก วัดสนามเหนือ วัดเกาะพญาเจ่ง วัดกู้ และวัดศรีรัตนารามหรือวัดบางพัง เป็นต้น  นอกจากนี้ก็ยังมี วัดศาลากุล วัดป่าเลไลย์ วัดปกคลองพระอุดม วัดสาลีโขภิตาราม  วัดใหญ่สว่างอารมณ์ วัดแสงสิริธรรม วัดท่าอิฐ วัดเชิงท่า วัดหน้าโบสถ์ วัดโพธิ์บ้านอ้อย และ วัดหงส์ทอง
การล่องเรือไปไหว้พระและท่องเที่ยวย่อมจะก่อเกิดศรัทธาปสาทะ ความสุขทางใจ และได้รับอรรถรสความพึงพอใจได้หลายอย่างเป็นธรรมดา  แต่ในบางมุมมองนั้นไม่แน่ว่าจะขาดหายอะไรไปบ้างหรือเปล่า   

ผ่านมิติย้อนยุค

        มุมมองอดีตหนึ่งที่ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอท่านผู้อ่านนี้  แม้มิใช่เรื่องราวของประวิติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์โดยตรงแต่ก็เกี่ยวเนื่องกันอยู่มิใช่น้อย  ในความเกี่ยวเนื่องกันนี้  ถ้าเราไม่จำเป็นต้องยึดกรอบและมองเลยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของข้อเท็จจริงร่วมสมัยออกไปบ้าง  บางที เราอาจได้สัมผัสความรู้สึกทางใจและกลิ่นอายแห่งอดีตของคนเราอีกแบบหนึ่ง 
        ในวิถีอันยาวนานของคนมอญ  ไม่แน่ว่า แหวนทองเหลืองเก่าๆ แค่วงเดียวหรือแค่ช่อดอกเข็มในงานศพ  ก็อาจนำพาเราส่งผ่านกระแสใจให้รำลึกย้อนไปได้ถึง ตุง เสาหงส์ และกลิ่นหอมของกุหลาบเมาะลำเลิงอันสูงส่งในอดีต

เรื่องเล่าสองฝั่งลำน้ำ

        ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อราวยี่สิบปีก่อน  หลวงพ่อกิตติ อดีตเจ้าอาวาส วัดเรืองเวชมงคล เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า คนมอญเขานับถือผีบรรพบุรุษกันอย่างเคร่งครัดมานาน  เรื่องของผีมอญนี้มีผู้คนเล่าขานต่อกันมา   กล่าวกันว่า เขาจะมีทายาทรับช่วงต่อกันไปเรื่อยๆ เหมือนรับมรดกตกทอด เช่น บางชุมชนอาจกำหนดให้ลูกสาวคนเล็กเป็นทายาทรับช่วง  เขาจะมีของรักษาเช่น หมาก พลู แหวน เป็นต้น เหมือนอย่างเครื่องบูชาหรือสัญลักษณ์ ที่จะต้องเคารพบูชาและยำกรงกันทั้งตระกูล  เป็นตัวแทนของผีบรรพบุรุษที่กำหนดให้ลูกหลานประพฤติตามครรลองหรือขนบธรรมเนียมประเพณี  ถ้าทำถูกก็อยู่ดีมีสุขเป็นปกติและเจริญรุ่งเรือง  แต่ถ้าทำผิดก็จะผิดผีได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย
        แต่ก่อนนั้น การส่งมอบ มรดกผีมอญ ให้กับทายาทถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดทีเดียว  บางรายล้มป่วยชนิดไม่มีทางรอดในสามวันเจ็ดวันระหว่างที่ทายาทอยู่ต่างเมืองเป็นระยะทางไกลแสนไกลก็สู้แข็งใจฝืนทนรอให้ทายาทกลับมารับช่วงเสียก่อนที่ตัวเองจะตาย  เรื่องที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ  คนอาการโคม่าใกล้ตายบางรายนี้รออยู่ได้เป็นแรมปีหรือหลายปี  เพียงเพื่อรอส่งมอบต่อทายาท  พอทายาทมาถึง  ...แค่เพียงส่งมอบของ เช่น แหวน ให้หรือแม้เพียงแค่แตะน้ำลาย...  จากนั้นผู้ป่วยก็จะตายทันที...  มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจนึกถึงละครโทรทัศน์เรื่อง กระสือสาว ที่ ทวี  วิษณุกร เขียนการ์ตูนขึ้นมาใหม่จนดัง...  ไม่ใช่ครับ...  เรื่องเล่าขานของมรดกผีมอญมีมายาวนานและมีอะไรที่ลึกๆในด้านของจิตวิญญาณมากกว่านั้น
         ผู้คนแถบ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เขาร่ำลือกันว่า  เคยมีคน ลองดี มาแล้ว  คือมีทายาทผู้ชายคนหนึ่งไม่เชื่อเรื่องถือผีบรรพบุรุษ  นอกจากไม่เชื่อแล้วยังพูดจาไม่ดีทั้งยังกล้าพูดกล้าทำด้วยคือเอาของมรดกที่ว่าไปทิ้งน้ำเสียเลย  เขาจัดแจงรวมของใส่หม้อดินลงเรือพายไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา  พอถึงที่ท้องน้ำลึกก็ทิ้งหม้อดินจมหายลงไปในน้ำ  จากนั้นก็กลับบ้าน  แต่อยู่มาไม่นานจู่ๆ ก็เกิดปากบิดเบี้ยวและมือหงิกเหมือนถูกลงโทษ  ปากนั้นบิดเบี้ยวราวกับท่าทางเวลาที่เคยพูดจาไม่ดียังไงยังงั้น  ส่วนมือนั้นก็หงิกงอเห็นชัดตรงปลายนิ้วเป็นลักษณะเดียวกับมือที่ยกปากหม้อดินทิ้งลงน้ำ  ทำอย่างไรก็ไม่หายจนกระทั่งมีการขอขมากันตามประเพณีในเวลาต่อมา
คุณป้าเจิม ผู้อาวุโสแห่ง ชุมชนมอญเกาะเกร็ด ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า  เรื่องนี้เคยมีตัวอย่างให้เห็นจริง เช่น  ครั้งหนึ่ง คนต่างถิ่นที่มาเป็นสะใภ้คนมอญเข้ามานอนในบ้านโดยที่เจ้าบ้านไม่ได้จุดธูปบอกบรรพบุรุษ  ผู้หญิงที่มานอนได้เห็นกับตาจริงๆ ว่ามีบรรพบุรุษมาปรากฏให้เห็นทั้งหน้าตาและเป็นเงาร่างตัวโตสูงใหญ่จนไม่เป็นอันนอน 
     คุณป้าบอกว่าการนับถือผีบรรพบุรุษของคนมอญนั้นมีมาแต่โบราณ  อย่างที่เกาะเกร็ดนี่ก็ยังถือกันอยู่แต่ก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกที่  อย่างคนมอญแถวเกาะเกร็ดจะกำหนดเลือกเอาทายาทคือ ลูกชายคนโต ของตระกูลเป็นผู้สืบทอด  ส่วนแถวปทุมธานีก็จะกำหนดเลือกเอา ลูกสาวคนเล็ก เป็นต้น 
        สิ่งของรักษาอันเป็นเหมือนตัวแทนบรรพบุรุษนี้ปกติจะได้มาตอนตั้งศพ คือเอาพวก หมากพลู ตะไกร และ แหวน มาแขวนไว้เหนือศพโดยให้ของเหล่านี้ตรงกับสะดือของศพ  ถ้ายกศพออกจากบ้านแล้วก็ไม่ได้เอาตามไปด้วย  เขาจะเอาของเหล่านี้ไปไว้ที่เสาเอกของเรือน เสาเอกเรือนของมอญที่เกาะเกร็ดนี่ถือเอา เสาทิศใต้  เพราะถือเอาทะเลเป็นที่หมายคือเป็นพวก มอญหงสาวดี ซึ่งอยู่ใกล้ทะเล  ผิดกับเสาเอกของไทยทั่วไปซึ่งอยู่ทิศเหนือ 
 
วัฒนธรรมอันเข้มแข็ง

        ถ้าหันกลับไปมองความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของคนเชื้อชาติมอญก็จะชวนให้ซึ้งใจว่า  เป็นเชื้อชาติที่มีความแนบแน่นอยู่กับพระพุทธศาสนามาแต่ไหนแต่ไร  หากมองอย่างแยกแยะความแตกต่างก็จะเห็นความสัมพันธ์กับชาติไทย ตั้งแต่สมัย สุโขทัย อยุธยา มาจนถึง รัตนโกสินทร์  แต่ถ้ามองอย่างผสมกลมกลืนแล้วคนมอญก็คือคนไทยนั่นแหละ  มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมานานตั้งแต่ก่อนร่อนชะไร  ลองนึกดูว่า สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นตั้งแต่โบราณ เช่น ครรลองพุทธ ปรัชญา วิถีช่าง การศึก และศิลปะศาสตร์ต่างๆ อยู่มาได้อย่างไร  ถ้าไม่ใช่วัฒนธรรมอันเข้มแข็งของชนชาติ  ถ้าไม่ใช่ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ  หรืออาจพูดกันอย่างชาวบ้านก็ว่า ถ้าไม่ใช่ผีมอญ...

ความเข้มขลัง
ที่แฝงฝังอยู่ในตำนาน

        ในบางมุมมองนั้นเชื่อว่าคนเก่าๆ ท่านสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในตำนานต่างๆ และเรื่องเล่าขานได้ดี  อย่างเช่น เรื่องของ พระอัครมเหสีของกษัตริย์แห่งเมืองมอญ เมื่อเริ่มทรงพระครรภ์จู่ๆ ก็มีพระประสงค์ที่จะเสวย ดินใจกลางเมืองหงสาวดี  อันเป็นที่น่าตื่นเต้นประหลาดใจยิ่งนัก  นั่นเป็นเหตุอัศจรรย์ครั้งทรงพระครรภ์ในพงศาวดาร ราชาธิราช อันยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณ  ทั้งยังมีตำนาน สมิงพระราม ยอดนักรบอีกด้วย
        ในเรื่องของความซื่อสัตย์และพากเพียรนั้นเล่าก็มีตำนานของ มะกะโท หนุ่มน้อยชาวรามัญผู้ยากจนข้นแค้นที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระร่วงเจ้า ซึ่งก็คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้พากเพียรสร้างตัวจากที่เริ่มต้นเอาเบี้ย(เงิน)ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักกาดได้แค่ติดนิ้วมือ(เอานิ้วจุ้มน้ำลายแล้วจิ้มลงไปในภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์)  จนกระทั่งได้เป็นพระราชบุตรเขยและเป็นกษัตริย์ครองกรุงหงสาวดี


ปริตรรามัญ
กล่าวกันว่า เมื่อครั้งแผ่นดินอยุธยา พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า เสด็จไปประทับอยู่ กรุงลพบุรี 8 เดือน ในฤดูแล้งทุกปี ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์รามัญ วัดตองปุ ให้ตามเสด็จขึ้นไปตั้งอารามชื่อ วัดตองปุ อยู่สวดพระปริตรถวายพระพุทธมนต์ทุกวัน อารามนั้นก็มีปรากฏจนทุกวันนี้ และน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรนี้ ย่อมเป็นที่เห็นว่ามีอำนาจป้องกันอุปัทวันตรายต่าง ๆ ได้จริง
ครั้นสมัยแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีการถือน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรที่พระสงฆ์รามัญสวดถวายนั้น เป็นน้ำสรงพระพักตร์และน้ำสรงมาทุกพระองค์ ดังที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นิพนธ์อธิบาย ถึงราชประเพณีดังกล่าวในหนังสือ "ตำนานพระปริต" ว่า
".....การสวดพระปริตทำน้ำพระพุทธมนตร์ ถือเป็นการสำคัญในราชประเพณีอย่างหนึ่ง มีตำแหน่งพระครูพระปริตไทย 4 รูป พระครูพระปริตมอญ 4 รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ ในบรรดางานพระราชพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก พระราชาคณะไทยรูป 1 มอญรูป 1 กับพระครูพระปริต 8 รูปนั้นสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์สำหรับสรงมุรธาภิเษกทุกงาน และโดยปกติพระครูพระปริตรมอญต้องเข้ามาสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ที่ หอศาสตราคม ทุกวัน น้ำมนตร์พระปริตนั้น ส่วนหนึ่งแบ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์และโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งในบาตร 2 ใบให้สังฆการีถือตามพระครูพระปริต 2 รูป เข้าไปเดินประพรมด้วยกำหญ้าคาที่ในพระราชวังเวลาบ่าย 14 นาฬิกา ทุกวันเป็นนิตย์มาแต่โบราณ.....
ฉะนั้น ในด้านอานุภาพความเข้มขลังของการสวดพระปริตรแบบมอญนั้นคงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก  ส่วนเอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของ ท่วงทำนอง นั่นแหละ
คุณป้าเจิม ผู้อาวุโสแห่ง ชุมชนมอญเกาะเกร็ด บอกว่า โว่น ซึ่งหมายถึงท่วงทำนองแบบ สารภัญญะ นั่นแหละที่ไพเราะกินใจมาก  ไม่ว่าพิธีมงคลหรือพิธีอื่นๆ ก็เป็นที่ยอมรับว่าไพเราะ  ยิ่งถ้า สวดสังคหะ ในงานศพแล้วล่ะก็ โหยหวนอย่าบอกใครเชียว

วัดตองปุ

        ในประวัติ วัดชนะสงคราม กล่าวเอาไว้ว่า วัดชนะสงคราม เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่า วัดกลางนา  เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ วัดกลางนา เป็น วัดตองปุ และให้เป็น วัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับ วัดตองปุ ที่ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าใน สงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. 2329 และ สงครามที่นครลำปางป่าซาง เมื่อ พ.ศ. 2330  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง
เมื่อมีการสวดพระปริตรเป็นพิธีหลวง จึงได้ทรงแต่งตั้งพระครูพระปริตรประจำพระราชวัง สำหรับการสวดพระปริตร และสวดพระพุทธมนต์สำหรับทำน้ำมนต์ และสำหรับเสกทรายโดยเฉพาะ โดยมีพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ 4 รูป ซึ่งแต่เดิมจำพรรษาอยู่ตามวัดต่าง ๆ ที่สังกัดอยู่ในคณะรามัญนิกาย เช่น วัดบวรมงคล วัดราชคฤห์ วัดชนะสงคราม เป็นต้น ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแปลง เป็นพระสงฆ์มอญจากวัดชนะสงครามเพียงอารามเดียว ทั้งนี้สาเหตุอาจเนื่องมาจากการจัดเวรหมุนเวียนพระแต่ละแห่งเกิดความไม่สะดวก หรือเป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีพระที่สวดพระปริตรรามัญหลบภัยสงครามไปอยู่ตามวัดในต่างจังหวัด จะเหลืออยู่ก็แต่ที่วัดชนะสงคราม จึงได้สวดวัดเดียวนับแต่นั้นมา


แปลกแต่จริง
        บริเวณสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีวัดอยู่มากและมีมาแต่โบราณ  อย่างเช่นแถว วัดไทรม้าเหนือ วัดไทรม้าใต้ และวัดบางนา ก็ล้วนเป็นวัดโบราณแถบริมฝั่งน้ำแถบนนทบุรี  โดยเฉพาะวัดบางนานั้นเป็นวัดร้างมากว่า 100 ปี เพิ่งมาบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่  ผู้เขียนเคยอ่านพบประวัติเมื่อสมัยครั้งแรกที่ทำการบูรณะว่า
        27 มีนาคม 2523 โดยมีพระภิกษุสงฆ์ร่วมด้วยหมู่พุทธศาสนิกชนได้เริ่มบุกเบิกถางป่า  โดยเฉพาะสถานที่บนเนินโบสถ์ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลาและโบสถ์ในปัจจุบันนี้.....  ..สิ่งที่พบบนเนินโบสถ์เมื่อเริ่มทำการบูรณะคือ
        1.อิฐโบราณก้อนโตๆ ก้อนโตสุดหนักเกิน 17 กก.  นำไปฝากไว้ที่ พิพิธภัณฑ์วัดบางแพรกใต้(หลังเรือนจำบางขวาง)
        2.พระพุทธรูปศิลาแลงขนาดใหญ่เท่าคน(ชำรุด)
        3.ใบเสมาศิลาแลง 4 ใบ(ชำรุด)
        4.พระพุทธรูปปั้นด้วยปูนขาว(ชำรุด)
        5.พระพุทธรูปบูชา หน้าตัก 4 นิ้ว เนื้อสัมฤทธิ์สมัยละโว้ มีหลายสิบองค์(ชำรุด)
        6.พระแก้บน 27 องค์ ในที่ขุดหลุมเสาศาลา  เนื้อพระดูไม่ออกแต่หุ้มด้วยแผ่นเงินมีอักษรจารึกแบบสมุดข่อย(ชำรุด)  อ่านพอได้ใจความว่า  อุทิศกุศลให้ มะกะโท...
       ...แปลก แต่จริง....  ชื่อนี้เป็นชื่อมอญ  ไม่ทราบว่าเป็นนามของท่านผู้ใด  แต่เท่าที่รู้  ชื่อเดียวกันนี้ก็เป็นชื่อเดิมหรือพระนามอันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์มอญในประวัติศาสตร์แห่ง อุษาคเนย์ ทีเดียว  




เรียบเรียงโดย ชุนคำ  จิตจักร
ลงพิมพ์ในนิตยสารมหามงคล ปีที่ 2 ฉบับที่ 13  พ.ศ.2554


ไม่มีความคิดเห็น: