วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

ดินเลน

...เรื่องสั้นมิติย้อนยุค...

ดินเลน

เรื่องที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของคนเมื่อราวห้าสิบปีก่อน




ไม่รู้จักกี่ครั้งแล้ว...  ที่..เนียมเป๋ หรือ ไอ้เนียม ขาเป๋ ซบหน้าลงกับหัวเรืออย่างหมดเรี่ยวแรง ปากก็ส่งเสียงพึมพำว่า
ถ้าพ่อมีเงินรักษา  หนู...
อาลั้ง เฝ้ามองดูผัวรักอย่างหดหู่ใจทุกวัน  นางไม่อาจจะสรรหาคำใดมาปลอบโยนได้ในเมื่อหัวใจนางก็โศกเศร้าอาดูรเหมือนตายทั้งเป็นเช่นเดียวกัน  ลูกจิน จากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ  ทั้งสองมีลูกสาวอยู่คนเดียวแล้วแกก็เป็นเด็กน่ารักออกอย่างนั้น
 ..ผิดด้วยหรือ ที่เกิดมาจน..  ใครว่าไม่ผิดล่ะ  ใครๆไม่ลองมาเกิดเป็นพ่อแม่จนๆที่ไม่มีเงินรักษาลูกดูบ้างจะรู้สึกผิดแค่ไหน...
สี่ห้าเดือนผ่านไป  สองผัวเมียยังคงแจวเรือออกไปรับจ้างขนมะพร้าวเช่นเคยทั้งที่แทบไม่ได้พูดจาอะไรกันเลยทั้งวัน  พอกลับมาเย็นผัวก็เอาเรือออกไปเอาดินเลนมาถมร่องสวน  ถมไปๆถมแล้วก็ถมลงไปอีก  ทำอย่างกับร่องสวนมันไม่มีวันจะเต็มได้อย่างนั้นแหละ  ทำอยู่อย่างนี้ทุกวันจนร่องสวนแถบริมตลิ่งกลายเป็นลานบ้าน  บางวันฝ่ายผัวกลับมืดผิดปกติจนเมียอดถามไม่ได้
พี่ไปทำอะไรนักหนา  ทำไมไม่พักมั่ง  ยังทำใจเรื่องลูกไม่ได้เหรอ  ฉันชักจะห่วงแล้วนะ
จะว่าอย่างงั้นก็ใช่เนียมยอมรับ แต่พี่มาได้ความคิดใหม่ว่าสวนบ้านเรามีไร่กว่าๆนี่เอาไว้ปลูกอะไรๆแค่สองร่องก็พอ  ที่เหลือถมเป็นลานกว้างๆไว้เก็บของเผื่อซื้อขายดีกว่า
ก็ดีนะพี่  แต่พี่อย่าไปคนเดียวค่ำมืดสิจ๊ะ  ให้ฉันไปช่วยพายช่วยถ่อถือท้ายเถอะ
พี่กลัวลั้งเหนื่อย  ไหนจะงานบ้าน ทำครัว
ไม่หรอกน่า  ฉันทำได้
...................................
ไปทำอะไรวะเนียม  ไปทำงานที่ทำให้ตายก็ไม่รวยน่ะเหรอเสียงเพื่อนบ้านเย้าแหย่หัวเราะกันเกรียวยามที่เรือแล่นสวนกัน
เอ็งมันเป็นคนมีหลักมั่นทางใจ มีสัจจะ  เนียมเอ๋ยพระครูพูดให้กำลังใจ ข้ารู้ว่าเอ็งต้องทำใจของเอ็งได้  จะเอาอะไรกับชีวิตที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเล่า  มีคู่ครองที่ซื่อสัตย์สุจริตและดีต่อกันก็เป็นสุขเท่าไหร่แล้ว  ข้าเชื่อว่าวันหนึ่งเอ็งต้องมีอยู่มีกินอย่างสุขสบาย
  เนียมนึกถึงคำพูดหลายต่อหลายคน  แม้ว่าคนแถบนี้จะหนีไปทำงานที่บางกอกกันเกือบหมดแต่เนียมก็ปลงใจแล้วว่าจะอยู่ที่เดิมที่นี่  จะหวังอะไรนักหนากับชีวิตลูกกำพร้าขาเป๋ที่การศึกษาต่ำอย่างเขานอกจากเอาแรงออกสู้งาน  ถ้าเหนื่อยนักก็นอนงีบที่หัวเรือใต้ร่มไม้สักพักในยามบ่ายหรือหากไม่มีกินจริงๆก็ยังอาจจะพอพึ่งวัดได้บ้างเป็นบางมื้อ
ดินเลนอันเกิดจากการตกตะกอนของน้ำที่ชะล้างหน้าดินนั้นมีอยู่ชั่วนาตาปีตามแม่น้ำ ลำคลอง ร่อง และลำกระโดง  นอกจากไม่ค่อยจะมีใครต้องการแล้วยังมีคนจ้างให้ขุดลอกไปทิ้งด้วยซ้ำเพื่อให้น้ำใส  เมื่อมิใช่สมบัติอันเป็นสิทธิของผู้ใดมันก็คงไม่ผิดที่จะเอามาเป็นทรัพย์สินสำหรับไอ้เนียมเป๋คนยากผู้ซึ่งยินดีและถือเอาว่าเป็นของขวัญล้ำค่าที่แม่ธรณีและแม่คงคาท่านประทานให้มา
ขยันเกินไปรึเปล่าลั้งบีบไหล่และลำแขนอันล่ำสันของผู้ผัวอย่างปลอบประโลม
ถึงแรงขาไม่ดีนักแต่แรงแขนพี่ไม่แพ้ใคร  ลั้งก็รู้
ก็นั่นแหละ  อย่าให้ป่วยเสียก่อนถึงรู้ตัว
ไม่ล่ะน่า  พี่รู้ผ่อนหนักผ่อนเบาอยู่  ขอแค่ลั้งอย่าคิดว่าพี่บ้าเพี้ยนไปก็แล้วกัน
ใครว่าล่ะ  พี่น่ะขยันเหมือนอากงที่ม้าเคยเล่าให้ฟังเลย
คงเป็นเพราะลั้งขยันสวดมนต์มั้ง
ดี  ฉันจะได้สวดเยอะๆแผ่บุญให้ลูก  นี่  พระครูให้คาถาฉันด้วย
คาถาอะไร
คาถาร่ำรวย
หือ..เนียมตาปรือเหมือนเริ่มจะง่วง สวดไปเถอะพี่จะคอยฟัง
...........................................
ไม่ว่าจะอยู่ในที่น้ำตื้นหรือน้ำลึกซึ่งต้องอึดหายใจยาว  ในห้วงนึกของเนียมก็เหมือนเห็นได้หมดทั่วทุกทิศในท้องน้ำทั้งเวิ้งวุ้งชะวากใหญ่น้อยอันเป็นที่นอนก้นตกตะกอนของดินเลน  ยิ่งทำไปยิ่งชำนาญจนมันรู้ว่าต้องเอาเท้าคลำเหยียบหยั่งดูว่ามีขวากหนามของแหลมคมสิ่งใดเป็นอันตรายบ้างแล้วจึงค่อยๆล้วงควักหรือกอบอุ้มเอาขึ้นมา  อึดใจเดียวยามอยู่ใต้น้ำจากที่แต่ก่อนนั้นเคยทำได้เพียงชั่วครู่ก็กลายเป็นยาวนานจนอีกฝ่ายที่รอบนเรือตกใจ  วันแล้ววันเล่า แม้จะปวดร้าวไปทั้งตัวมันกลับยิ่งพอใจฝึกตัวเองให้แกร่งเหมือนว่าวต้านลม  จนกระทั่งแผงอกใหญ่ผึ่งผายทั้งกล้ามเนื้อแข็งแกร่งไปทั้งตัว
แม้จะค่ำมืดมีแค่ตะเกียงไฟฉาย และแสงเดือน มันก็ยังทำงานของมันได้ไม่รู้จักท้อ  บางคราคนผ่านมาเห็นก็เข้าใจว่าสองผัวเมียออกหาปลา  บางคนก็ว่ามันบ้างานเหมือนอย่างกับคนหนีภัยแล้งภัยสงครามมาจากต่างบ้านต่างเมืองก็ไม่ปาน
เวลาผ่านไปปีกว่า  เนื้อที่รอบๆกระต๊อบริมคลองก็ราบเรียบเป็นหน้ากลอง  สองผัวเมียเร่งทำคันดินสูงรอบด้านกันการพังทลายแล้วปลูกไม้ยืนต้นที่รากหยั่งลึกยึดคันดินจำพวก ไผ่ ชมพู่ มะม่วง มะขาม สะเดา ขี้เหล็ก และกล้วย   ที่ริมน้ำยังทำสวนผักและปลูกดอกไม้แล้วปรับแต่งท่าน้ำหัวสะพานเป็นที่เจริญตา  พอใส่บาตรที่ท่าน้ำแล้วอาลั้งก็จะมากรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเสียงดังพึมพำอยู่ตรงโคนต้นมะขามหน้าบ้านเป็นประจำ  แล้วอยู่มาวันหนึ่งจึงบอกกับผัวว่า
พี่  ฉันฝันดี
ฝันดีว่ายังไงล่ะ
ฝันเห็นลูกจินลั้งหัวเราะน้ำตาคลอหน่วย เห็นลูกยิ้มมีความสุขแล้วแกก็บอกว่าอยากจะกลับมาอยู่กับพ่อแม่อีก
ก็ดีแล้วเนียมโอบกอดแล้วลูบผมเมียเบาๆแล้วชะงักเมื่อฉุกคิดแต่เอ..  หรือว่า
อาจจะ  สามเดือนแล้วมั๊งฉันยังไม่แน่ใจ
ลั้ง...  เราจะมีลูกเขาอุทานอย่างดีอกดีใจ
....................................
เนียมไม่ยอมให้เมียออกไปช่วยงานนอกบ้านอีกแล้วและตัวเขาเองก็ดูเหมือนจะมีแรงทำงานได้มากกว่าเดิมอีกหลายเท่า  นอกจากมะพร้าวจะเต็มลานแล้วยังมีกองดินเลนสูงท่วมหัวคนอีกสามสี่กอง  บางกองนั้นแห้งแล้วและบางกองก็ยังเปียกนิ่ม
ดินนี่ขายไม๊
เฮียฮง พ่อค้าเรือลากขนของถามขึ้นในตอนเช้าวันหนึ่ง
ก็อยากจะขายนะเฮียแต่ฉันยังไม่เคยตั้งราคาเนียมออกตัว เฮียช่วยแนะนำฉันบ้างเถอะนะ  พอให้ฉันได้มีกินมีอยู่สัมมาหาเลี้ยงลูกที่มันกำลังจะเกิดมา
จะเป็นไรเล่า  ไอ้เนียมเอ้ยพ่อค้าเรือยิ้มกว้าง ข้าจะช่วยคิดนะ  ข้าว่าดินแห้งนี่ตั้งราคาพอๆกับดินถมที่ทั่วไปก่อนพอให้คนรู้จักเรา  คนที่รู้เรื่องปลูกต้นไม้ดีเขาน่าจะรู้ว่ามีปุ๋ยดีกว่า  ส่วนดินเปียกนี่ข้าจะลองให้เขาใส่ถุงไปวางขายสนามหลวงดู
จากวันนั้นก็มีคนสั่งดินเข้ามาเรื่อยจนหาให้แทบไม่ทันต้องไปว่าจ้างเด็กวัดและชาวบ้านหกเจ็ดคนมาช่วย  ฝ่ายอาลั้งก็ขยันใส่บาตรทำบุญและสวดมนต์ไหว้พระมากขึ้นจนได้ลูกสาวสมใจทั้งสองจึงพากันตั้งชื่อว่าลูกเอื้อมหรือเอื้อมพร
ผู้คนทั้งหลายเริ่มจะเห็นคุณค่าของดินเลนพร้อมกับไอ้เนียมคนยากแห่งคลองมหาสวัสดิ์ว่ามันช่างมีอัธยาศัยและเป็นคนที่รักษาสัญญาจนขึ้นชื่อ  มาถึงวันนี้แล้วต่อให้เนียมสั่งดินจากที่อื่นมาขายผู้คนเขาก็ยังยินดีที่จะซื้อกับเนียมเป๋  ในที่สุดเขากับเมียจึงปรึกษากันว่าจะหารถดั๊มซักคัน
เนียมจะออกกี่คันล่ะเสี่ยจึง  เถ้าแก่ใหญ่แห่งนครปฐมถาม
คันเดียวครับเสี่ย  เอาพอผ่อนได้เนียมตอบอย่างเจียมตัว
สำหรับคนอย่างลื้อ  ห้าคันอั๊วก็ให้ได้เลย เอาไหมล่ะ
อย่าล้อเล่นสิครับเสี่ย  ผมมันไม่มีหลักทรัพย์อะไร
ไม่ได้ล้อเล่นเสี่ยจึงหัวเราะ อั๊วรู้จักคนอย่างลื้อแค่นี้ก็พอแล้ว  อาฮงกับพระครูอั๊วก็รู้จักดี
ถ้าออกสองคันจะเสี่ยงไปรึเปล่านะ
ซักสามเถอะ  จะได้สู้ตลาดเขาได้  มีอะไรก็ปรึกษาอาฮงได้นี่นา
มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์แท้ จนเนียมไม่อยากเชื่อ  เพียงไม่กี่ปีเขาได้งานรับเหมาถมที่ตั้งยี่สิบกว่าแห่งจนเงินทองไหลเข้ามามากพอที่จะซื้อที่ริมคลองเพิ่มขึ้นอีกเจ็ดไร่
.....................................................
ดวงตาที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดลอกต้อกระจกมาไม่นานทำให้คนอายุร่วมแปดสิบอย่างเขาได้เห็นโลกสดใสพอๆกับเมื่อตอนห้าสิบกว่า  เบื้องหน้า หลานชายนักว่ายน้ำวัยสิบแปดปีคุกเข่าลงตรงหน้ารถเข็นวิลแชร์พร้อมกราบลงที่ตักแล้วเอ่ยขึ้นว่า
ผมต้องลบสถิติเดิมของตังเองให้ได้  แต่ต้องขอรับพรจากคุณปู่ก่อนเพราะว่าปอดที่แข็งแรงยอดเยี่ยมของผมได้รับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ คือ  ดี เอ็น เอ มาจากคุณปู่
ขอให้สำเร็จสมความตั้งใจนะลูก
เด็กหญิงชั้นอนุบาลก็กระแซะเข้ามาเกาะแขนปู่บ้างก่อนจะเอ่ยถามว่า
แล้วหนูได้รับ ดี เอ็น เอ จากคุณปู่ไม๊
ได้สิลูกผู้เป็นพ่อที่ยืนอยู่ด้านหลังตอบให้แทน อยู่ในตัวหนูเรียบร้อยแล้ว
คุณพ่อขาเด็กหญิงช่างซักต่อคุณปู่ทำ ดี เอ็น เอ ยากไม๊คะ
ยากมากลูก  แล้วพ่อจะเล่าให้ฟัง  อย่าเพิ่งไปกวนคุณปู่
จากนั้น ทั้ง พ่อ แม่ และน้องสาวคนเล็กชั้นประถมก็พากันตามไปเชียร์  เขายังแลเห็นรถเก๋งสีเทาวิ่งเลียบคลองไปอย่างช้าๆจนลับไปจากสายตา
จากสวนลอยฟ้าบนตึกชั้นห้า  เขาทอดสายตามองแนวคดโค้งของ ลำคลองมหาสวัสดิ์  เห็นมีแต่คุ้งน้ำหน้าวัดบริเวณท่าข้ามที่มีต้นไทรใหญ่เท่านั้นแหละที่ยังเหลือสภาพคล้ายเมื่อห้าสิบปีก่อนอยู่บ้าง  ทำให้หวนนึกย้อนไปถึงชีวิตในอดีตของเขา  ไอ้เนียมคนยากผู้ซึ่งผุดดำผุดว่ายอยู่อย่างนั้นวันแล้ววันเล่า..




ผลงานของ ชุนคำ  จิตจักร
ลงพิมพ์ในนิตยสารมหามงคล ปีที่ 1 ฉบับที่  1 ประจำเดือนมกราคม 2553

มรดกผีมอญ

...เที่ยวไปในยามโพล้เพล้.....

มรดกผีมอญ

โดย ชุนคำ  จิตจักร



.....ในวิถีอันยาวนานของคนมอญ  ไม่แน่ว่า แหวนทองเหลืองเก่าๆ แค่วงเดียวหรือแค่ช่อดอกเข็มในงานศพ  ก็อาจนำพาเราส่งผ่านกระแสใจให้รำลึกย้อนไปได้ถึง ตุง เสาหงส์ และกลิ่นหอมของกุหลาบเมาะลำเลิงอันสูงส่งในอดีต...



เส้นทางล่องเรือ
หลายๆ ท่านที่เคยไปเที่ยวไหว้พระ  อาจเคยรู้จักเส้นทางล่องเรือแถบชานกรุงดี  โดยเฉพาะ เส้นทาง เกาะเกร็ด คลองลัดเกร็ด และละแวกใกล้เคียง  การเริ่มต้นเดินทางนั้นปกติก็มักจะเริ่มต้นที่ท่าน้ำปากเกร็ด ซึ่งจะมีเรือหางยาวให้เช่า หรือไปขึ้นเรือที่วัดสนามเหนือที่อยู่ใกล้ตลาดปากเกร็ด  ส่วนการเลือกวัดที่จะไปเที่ยวไหว้พระนั้นขึ้นอยู่กับท่านเอง  เพราะในชุมชนมอญเองก็มีวัดอยู่มาก เช่น วัดปรมัยยิกาวาส วัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อม วัดฉิมพลี วัดตาล วัดเตย วัดตำหนักเหนือ วัดบางจาก วัดท้องคุ้ง วัดโปรดเกษ วัดบ่อ วัดบางพูดใน วัดบางพูดนอก วัดสนามเหนือ วัดเกาะพญาเจ่ง วัดกู้ และวัดศรีรัตนารามหรือวัดบางพัง เป็นต้น  นอกจากนี้ก็ยังมี วัดศาลากุล วัดป่าเลไลย์ วัดปกคลองพระอุดม วัดสาลีโขภิตาราม  วัดใหญ่สว่างอารมณ์ วัดแสงสิริธรรม วัดท่าอิฐ วัดเชิงท่า วัดหน้าโบสถ์ วัดโพธิ์บ้านอ้อย และ วัดหงส์ทอง
การล่องเรือไปไหว้พระและท่องเที่ยวย่อมจะก่อเกิดศรัทธาปสาทะ ความสุขทางใจ และได้รับอรรถรสความพึงพอใจได้หลายอย่างเป็นธรรมดา  แต่ในบางมุมมองนั้นไม่แน่ว่าจะขาดหายอะไรไปบ้างหรือเปล่า   

ผ่านมิติย้อนยุค

        มุมมองอดีตหนึ่งที่ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอท่านผู้อ่านนี้  แม้มิใช่เรื่องราวของประวิติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์โดยตรงแต่ก็เกี่ยวเนื่องกันอยู่มิใช่น้อย  ในความเกี่ยวเนื่องกันนี้  ถ้าเราไม่จำเป็นต้องยึดกรอบและมองเลยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของข้อเท็จจริงร่วมสมัยออกไปบ้าง  บางที เราอาจได้สัมผัสความรู้สึกทางใจและกลิ่นอายแห่งอดีตของคนเราอีกแบบหนึ่ง 
        ในวิถีอันยาวนานของคนมอญ  ไม่แน่ว่า แหวนทองเหลืองเก่าๆ แค่วงเดียวหรือแค่ช่อดอกเข็มในงานศพ  ก็อาจนำพาเราส่งผ่านกระแสใจให้รำลึกย้อนไปได้ถึง ตุง เสาหงส์ และกลิ่นหอมของกุหลาบเมาะลำเลิงอันสูงส่งในอดีต

เรื่องเล่าสองฝั่งลำน้ำ

        ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อราวยี่สิบปีก่อน  หลวงพ่อกิตติ อดีตเจ้าอาวาส วัดเรืองเวชมงคล เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า คนมอญเขานับถือผีบรรพบุรุษกันอย่างเคร่งครัดมานาน  เรื่องของผีมอญนี้มีผู้คนเล่าขานต่อกันมา   กล่าวกันว่า เขาจะมีทายาทรับช่วงต่อกันไปเรื่อยๆ เหมือนรับมรดกตกทอด เช่น บางชุมชนอาจกำหนดให้ลูกสาวคนเล็กเป็นทายาทรับช่วง  เขาจะมีของรักษาเช่น หมาก พลู แหวน เป็นต้น เหมือนอย่างเครื่องบูชาหรือสัญลักษณ์ ที่จะต้องเคารพบูชาและยำกรงกันทั้งตระกูล  เป็นตัวแทนของผีบรรพบุรุษที่กำหนดให้ลูกหลานประพฤติตามครรลองหรือขนบธรรมเนียมประเพณี  ถ้าทำถูกก็อยู่ดีมีสุขเป็นปกติและเจริญรุ่งเรือง  แต่ถ้าทำผิดก็จะผิดผีได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย
        แต่ก่อนนั้น การส่งมอบ มรดกผีมอญ ให้กับทายาทถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดทีเดียว  บางรายล้มป่วยชนิดไม่มีทางรอดในสามวันเจ็ดวันระหว่างที่ทายาทอยู่ต่างเมืองเป็นระยะทางไกลแสนไกลก็สู้แข็งใจฝืนทนรอให้ทายาทกลับมารับช่วงเสียก่อนที่ตัวเองจะตาย  เรื่องที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ  คนอาการโคม่าใกล้ตายบางรายนี้รออยู่ได้เป็นแรมปีหรือหลายปี  เพียงเพื่อรอส่งมอบต่อทายาท  พอทายาทมาถึง  ...แค่เพียงส่งมอบของ เช่น แหวน ให้หรือแม้เพียงแค่แตะน้ำลาย...  จากนั้นผู้ป่วยก็จะตายทันที...  มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจนึกถึงละครโทรทัศน์เรื่อง กระสือสาว ที่ ทวี  วิษณุกร เขียนการ์ตูนขึ้นมาใหม่จนดัง...  ไม่ใช่ครับ...  เรื่องเล่าขานของมรดกผีมอญมีมายาวนานและมีอะไรที่ลึกๆในด้านของจิตวิญญาณมากกว่านั้น
         ผู้คนแถบ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เขาร่ำลือกันว่า  เคยมีคน ลองดี มาแล้ว  คือมีทายาทผู้ชายคนหนึ่งไม่เชื่อเรื่องถือผีบรรพบุรุษ  นอกจากไม่เชื่อแล้วยังพูดจาไม่ดีทั้งยังกล้าพูดกล้าทำด้วยคือเอาของมรดกที่ว่าไปทิ้งน้ำเสียเลย  เขาจัดแจงรวมของใส่หม้อดินลงเรือพายไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา  พอถึงที่ท้องน้ำลึกก็ทิ้งหม้อดินจมหายลงไปในน้ำ  จากนั้นก็กลับบ้าน  แต่อยู่มาไม่นานจู่ๆ ก็เกิดปากบิดเบี้ยวและมือหงิกเหมือนถูกลงโทษ  ปากนั้นบิดเบี้ยวราวกับท่าทางเวลาที่เคยพูดจาไม่ดียังไงยังงั้น  ส่วนมือนั้นก็หงิกงอเห็นชัดตรงปลายนิ้วเป็นลักษณะเดียวกับมือที่ยกปากหม้อดินทิ้งลงน้ำ  ทำอย่างไรก็ไม่หายจนกระทั่งมีการขอขมากันตามประเพณีในเวลาต่อมา
คุณป้าเจิม ผู้อาวุโสแห่ง ชุมชนมอญเกาะเกร็ด ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า  เรื่องนี้เคยมีตัวอย่างให้เห็นจริง เช่น  ครั้งหนึ่ง คนต่างถิ่นที่มาเป็นสะใภ้คนมอญเข้ามานอนในบ้านโดยที่เจ้าบ้านไม่ได้จุดธูปบอกบรรพบุรุษ  ผู้หญิงที่มานอนได้เห็นกับตาจริงๆ ว่ามีบรรพบุรุษมาปรากฏให้เห็นทั้งหน้าตาและเป็นเงาร่างตัวโตสูงใหญ่จนไม่เป็นอันนอน 
     คุณป้าบอกว่าการนับถือผีบรรพบุรุษของคนมอญนั้นมีมาแต่โบราณ  อย่างที่เกาะเกร็ดนี่ก็ยังถือกันอยู่แต่ก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกที่  อย่างคนมอญแถวเกาะเกร็ดจะกำหนดเลือกเอาทายาทคือ ลูกชายคนโต ของตระกูลเป็นผู้สืบทอด  ส่วนแถวปทุมธานีก็จะกำหนดเลือกเอา ลูกสาวคนเล็ก เป็นต้น 
        สิ่งของรักษาอันเป็นเหมือนตัวแทนบรรพบุรุษนี้ปกติจะได้มาตอนตั้งศพ คือเอาพวก หมากพลู ตะไกร และ แหวน มาแขวนไว้เหนือศพโดยให้ของเหล่านี้ตรงกับสะดือของศพ  ถ้ายกศพออกจากบ้านแล้วก็ไม่ได้เอาตามไปด้วย  เขาจะเอาของเหล่านี้ไปไว้ที่เสาเอกของเรือน เสาเอกเรือนของมอญที่เกาะเกร็ดนี่ถือเอา เสาทิศใต้  เพราะถือเอาทะเลเป็นที่หมายคือเป็นพวก มอญหงสาวดี ซึ่งอยู่ใกล้ทะเล  ผิดกับเสาเอกของไทยทั่วไปซึ่งอยู่ทิศเหนือ 
 
วัฒนธรรมอันเข้มแข็ง

        ถ้าหันกลับไปมองความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของคนเชื้อชาติมอญก็จะชวนให้ซึ้งใจว่า  เป็นเชื้อชาติที่มีความแนบแน่นอยู่กับพระพุทธศาสนามาแต่ไหนแต่ไร  หากมองอย่างแยกแยะความแตกต่างก็จะเห็นความสัมพันธ์กับชาติไทย ตั้งแต่สมัย สุโขทัย อยุธยา มาจนถึง รัตนโกสินทร์  แต่ถ้ามองอย่างผสมกลมกลืนแล้วคนมอญก็คือคนไทยนั่นแหละ  มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมานานตั้งแต่ก่อนร่อนชะไร  ลองนึกดูว่า สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นตั้งแต่โบราณ เช่น ครรลองพุทธ ปรัชญา วิถีช่าง การศึก และศิลปะศาสตร์ต่างๆ อยู่มาได้อย่างไร  ถ้าไม่ใช่วัฒนธรรมอันเข้มแข็งของชนชาติ  ถ้าไม่ใช่ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ  หรืออาจพูดกันอย่างชาวบ้านก็ว่า ถ้าไม่ใช่ผีมอญ...

ความเข้มขลัง
ที่แฝงฝังอยู่ในตำนาน

        ในบางมุมมองนั้นเชื่อว่าคนเก่าๆ ท่านสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในตำนานต่างๆ และเรื่องเล่าขานได้ดี  อย่างเช่น เรื่องของ พระอัครมเหสีของกษัตริย์แห่งเมืองมอญ เมื่อเริ่มทรงพระครรภ์จู่ๆ ก็มีพระประสงค์ที่จะเสวย ดินใจกลางเมืองหงสาวดี  อันเป็นที่น่าตื่นเต้นประหลาดใจยิ่งนัก  นั่นเป็นเหตุอัศจรรย์ครั้งทรงพระครรภ์ในพงศาวดาร ราชาธิราช อันยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณ  ทั้งยังมีตำนาน สมิงพระราม ยอดนักรบอีกด้วย
        ในเรื่องของความซื่อสัตย์และพากเพียรนั้นเล่าก็มีตำนานของ มะกะโท หนุ่มน้อยชาวรามัญผู้ยากจนข้นแค้นที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระร่วงเจ้า ซึ่งก็คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้พากเพียรสร้างตัวจากที่เริ่มต้นเอาเบี้ย(เงิน)ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักกาดได้แค่ติดนิ้วมือ(เอานิ้วจุ้มน้ำลายแล้วจิ้มลงไปในภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์)  จนกระทั่งได้เป็นพระราชบุตรเขยและเป็นกษัตริย์ครองกรุงหงสาวดี


ปริตรรามัญ
กล่าวกันว่า เมื่อครั้งแผ่นดินอยุธยา พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า เสด็จไปประทับอยู่ กรุงลพบุรี 8 เดือน ในฤดูแล้งทุกปี ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์รามัญ วัดตองปุ ให้ตามเสด็จขึ้นไปตั้งอารามชื่อ วัดตองปุ อยู่สวดพระปริตรถวายพระพุทธมนต์ทุกวัน อารามนั้นก็มีปรากฏจนทุกวันนี้ และน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรนี้ ย่อมเป็นที่เห็นว่ามีอำนาจป้องกันอุปัทวันตรายต่าง ๆ ได้จริง
ครั้นสมัยแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีการถือน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรที่พระสงฆ์รามัญสวดถวายนั้น เป็นน้ำสรงพระพักตร์และน้ำสรงมาทุกพระองค์ ดังที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นิพนธ์อธิบาย ถึงราชประเพณีดังกล่าวในหนังสือ "ตำนานพระปริต" ว่า
".....การสวดพระปริตทำน้ำพระพุทธมนตร์ ถือเป็นการสำคัญในราชประเพณีอย่างหนึ่ง มีตำแหน่งพระครูพระปริตไทย 4 รูป พระครูพระปริตมอญ 4 รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ ในบรรดางานพระราชพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก พระราชาคณะไทยรูป 1 มอญรูป 1 กับพระครูพระปริต 8 รูปนั้นสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์สำหรับสรงมุรธาภิเษกทุกงาน และโดยปกติพระครูพระปริตรมอญต้องเข้ามาสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ที่ หอศาสตราคม ทุกวัน น้ำมนตร์พระปริตนั้น ส่วนหนึ่งแบ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์และโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งในบาตร 2 ใบให้สังฆการีถือตามพระครูพระปริต 2 รูป เข้าไปเดินประพรมด้วยกำหญ้าคาที่ในพระราชวังเวลาบ่าย 14 นาฬิกา ทุกวันเป็นนิตย์มาแต่โบราณ.....
ฉะนั้น ในด้านอานุภาพความเข้มขลังของการสวดพระปริตรแบบมอญนั้นคงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก  ส่วนเอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของ ท่วงทำนอง นั่นแหละ
คุณป้าเจิม ผู้อาวุโสแห่ง ชุมชนมอญเกาะเกร็ด บอกว่า โว่น ซึ่งหมายถึงท่วงทำนองแบบ สารภัญญะ นั่นแหละที่ไพเราะกินใจมาก  ไม่ว่าพิธีมงคลหรือพิธีอื่นๆ ก็เป็นที่ยอมรับว่าไพเราะ  ยิ่งถ้า สวดสังคหะ ในงานศพแล้วล่ะก็ โหยหวนอย่าบอกใครเชียว

วัดตองปุ

        ในประวัติ วัดชนะสงคราม กล่าวเอาไว้ว่า วัดชนะสงคราม เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่า วัดกลางนา  เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ วัดกลางนา เป็น วัดตองปุ และให้เป็น วัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับ วัดตองปุ ที่ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าใน สงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. 2329 และ สงครามที่นครลำปางป่าซาง เมื่อ พ.ศ. 2330  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง
เมื่อมีการสวดพระปริตรเป็นพิธีหลวง จึงได้ทรงแต่งตั้งพระครูพระปริตรประจำพระราชวัง สำหรับการสวดพระปริตร และสวดพระพุทธมนต์สำหรับทำน้ำมนต์ และสำหรับเสกทรายโดยเฉพาะ โดยมีพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ 4 รูป ซึ่งแต่เดิมจำพรรษาอยู่ตามวัดต่าง ๆ ที่สังกัดอยู่ในคณะรามัญนิกาย เช่น วัดบวรมงคล วัดราชคฤห์ วัดชนะสงคราม เป็นต้น ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแปลง เป็นพระสงฆ์มอญจากวัดชนะสงครามเพียงอารามเดียว ทั้งนี้สาเหตุอาจเนื่องมาจากการจัดเวรหมุนเวียนพระแต่ละแห่งเกิดความไม่สะดวก หรือเป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีพระที่สวดพระปริตรรามัญหลบภัยสงครามไปอยู่ตามวัดในต่างจังหวัด จะเหลืออยู่ก็แต่ที่วัดชนะสงคราม จึงได้สวดวัดเดียวนับแต่นั้นมา


แปลกแต่จริง
        บริเวณสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีวัดอยู่มากและมีมาแต่โบราณ  อย่างเช่นแถว วัดไทรม้าเหนือ วัดไทรม้าใต้ และวัดบางนา ก็ล้วนเป็นวัดโบราณแถบริมฝั่งน้ำแถบนนทบุรี  โดยเฉพาะวัดบางนานั้นเป็นวัดร้างมากว่า 100 ปี เพิ่งมาบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่  ผู้เขียนเคยอ่านพบประวัติเมื่อสมัยครั้งแรกที่ทำการบูรณะว่า
        27 มีนาคม 2523 โดยมีพระภิกษุสงฆ์ร่วมด้วยหมู่พุทธศาสนิกชนได้เริ่มบุกเบิกถางป่า  โดยเฉพาะสถานที่บนเนินโบสถ์ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลาและโบสถ์ในปัจจุบันนี้.....  ..สิ่งที่พบบนเนินโบสถ์เมื่อเริ่มทำการบูรณะคือ
        1.อิฐโบราณก้อนโตๆ ก้อนโตสุดหนักเกิน 17 กก.  นำไปฝากไว้ที่ พิพิธภัณฑ์วัดบางแพรกใต้(หลังเรือนจำบางขวาง)
        2.พระพุทธรูปศิลาแลงขนาดใหญ่เท่าคน(ชำรุด)
        3.ใบเสมาศิลาแลง 4 ใบ(ชำรุด)
        4.พระพุทธรูปปั้นด้วยปูนขาว(ชำรุด)
        5.พระพุทธรูปบูชา หน้าตัก 4 นิ้ว เนื้อสัมฤทธิ์สมัยละโว้ มีหลายสิบองค์(ชำรุด)
        6.พระแก้บน 27 องค์ ในที่ขุดหลุมเสาศาลา  เนื้อพระดูไม่ออกแต่หุ้มด้วยแผ่นเงินมีอักษรจารึกแบบสมุดข่อย(ชำรุด)  อ่านพอได้ใจความว่า  อุทิศกุศลให้ มะกะโท...
       ...แปลก แต่จริง....  ชื่อนี้เป็นชื่อมอญ  ไม่ทราบว่าเป็นนามของท่านผู้ใด  แต่เท่าที่รู้  ชื่อเดียวกันนี้ก็เป็นชื่อเดิมหรือพระนามอันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์มอญในประวัติศาสตร์แห่ง อุษาคเนย์ ทีเดียว  




เรียบเรียงโดย ชุนคำ  จิตจักร
ลงพิมพ์ในนิตยสารมหามงคล ปีที่ 2 ฉบับที่ 13  พ.ศ.2554


อนิจจา...บาบิยัน..


        เรื่องจริงของพระภิกษุนักปฏิบัติธรรมผู้สละโลกซึ่งสลัดกามราคะอันเปรียบเสมือนเลือดในอกของสัตว์ทั้งหลาย

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย

โดย ชุนคำ  จิตจักร
....................................................
ดิฉัน  เคยนอนที่เตียงนี้  เป็นตียงสุดท้าย
        พอบอกอย่างนี้แล้วเธอก็เดินไปทางหน้าต่าง  พอเดินไปถึงหน้าต่างแล้ว...เธอก็ลอย...   
        .....................................................
        ขึ้นชื่อว่ากามราคะย่อมเป็นสิ่งที่ละได้ยาก  ในเรื่องนี้ พระอาจารย์สุทัศน์  โกสโล แห่งวัดกระโจมทอง ต.วัดชะลอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ท่านเคยกล่าวแสดงธรรมไว้ว่า  ..กามราคะนั้นเหมือนเลือดในอกสัตว์  เป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย  แม้ว่าพระภิกษุสงฆ์ผู้พอใจในการหลีกออกจากกาม  ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์มุ่งหวังที่จะกระทำให้ถึงที่สุดแห่งความแจ้งทุกข์พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร  กามราคะในสันดานนั้นก็จะติดตามพัวพันให้เร่าร้อนจนถึงที่สุด  แม้ว่าจะคลายความยินดีในรูปกายที่หยาบก็ยังสามารถล่อลวงให้ยินดีในรูปที่ละเอียดยิ่งขึ้น  มีการหน่วงรั้งด้วยอำนาจของกระแสกรรมและความผูกพันอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในอดีต  ดังเช่นเรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้
        ชีวิตการปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์สุทัศน์ในครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศอินเดีย  ไปสักการบูชาและปฏิบัติบูชาในพุทธสถาน  หลังจากนั้นก็ได้เดินทางเข้าไปในปากีสถานและอัฟกานิสถานซึ่งในระหว่างที่เข้าไปนั้นได้ประสบกับเรื่องที่ลี้ลับมหัศจรรย์อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบได้เห็นมาก่อน  ในการไปครั้งนี้ ท่านร่วมเดินทางไปกับพระอาจารย์เสน่ห์ พระอาจารย์รุ่งเรือง และคณะทัวร์ซึ่งมีญาติโยมกลุ่มหนึ่งเดินทางไปด้วยกัน
        ท่านเพิ่งจะฟื้นจากอาการไข้หนักในตอนที่อยู่อินเดีย  พอเข้ามาถึงเมืองปีชะว่อที่ปากีสถาน  ทั้งหมดก็ได้เข้ามาพักที่โรงแรมเรนโบว์อันเป็นโรงแรมที่ใหญ่โตโอ่อ่ามีบริการพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกสบายทุกอย่าง  แต่พอมาถึงที่นี่ท่านก็มีไข้อีก
        พระอาจารย์สุทัศน์ท่านรู้สึกเกรงใจผู้ร่วมคณะและก็เห็นว่าอากาศที่อัฟกานิสถานนี่หนาวมากเกรงว่าความเจ็บป่วยของท่านจะเป็นเครื่องถ่วงคณะท่องเที่ยวซะเปล่าๆก็เลยขอตัวพักรอ อยู่ที่โรงแรมเรนโบว์นี้  คณะผู้เดินทางก็ปรึกษากันยังไม่มีการลงความเห็นว่าจะเอายังไง
        ห้องบนชั้นสูงของโรงแรมที่ท่านพักนั้นเขาจัดไว้อย่างสวยหรู  มีเตียงนอน เฟอร์นิเจอร์ เตาผิง สุขภัณฑ์ และของใช้ต่างๆอำนวยความสะดวกมากมาย  ขณะที่พระอาจารย์สุทัศน์กำลังนอนพักผ่อนร่างกายอยู่นั้นก็ได้มองสำรวจพิจารณาไปรอบๆ  สักครู่หนึ่งก็คล้ายๆมีใครปรากฏตัว    เป็นร่างของหญิงสาวคนหนึ่ง เธอก้าวช้าๆ ก้าวเข้ามา ก้าวเข้ามา..  ..ท่วงท่าเดินสุขุมนุ่มนวลสง่างามมาก  เธอสวมชุดส่าหรีพลิ้วไสวรับกับรูปร่างที่งดงามสมส่วนไม่มีที่ติ  แต่ดูเหมือนว่าท่านจะเห็นอยู่คนเดียว
        ..ดวงหน้าของเธอ...  ...สวยมาก..  ช่างเป็นดวงหน้าที่มีความสวยงามเป็นเลิศสุดที่จะบรรยายได้จริงๆ...  ในชีวิตที่ผ่านมาของพระอาจารย์สุทัศน์ก็พอจะเคยได้พบเห็นผู้หญิงที่คนเขายอมรับกันว่า สวยที่สุด งามที่สุด ก็มีไม่น้อยเลย  แต่เมื่อได้เห็นผู้หญิงคนนี้แล้ว บอกได้อย่างมั่นใจที่สุดเลยว่า  ผู้หญิงทุกคนที่เคยเห็นมาแล้วในชั่วชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่มีใครเลยที่จะมีความสวยงามเท่าผู้หญิงคนนี้..
        เธอเดินช้าๆ  เดินตรงมาที่เตียงซึ่งท่านนอนอยู่  สีหน้าของเธอเปี่ยมไปด้วยความมีไมตรี  พอมาถึงก็ค่อยๆก้มหน้าลงมากระซิบที่ข้างหูของท่าน  เสียงกระซิบนั้นเป็นภาษาพื้นเมืองที่ท่านฟังไม่รู้เรื่อง  แต่การรับรู้ทางจิตซึ่งได้รับการฝึกฝนมาทำให้ท่านสามารถรับรู้ความหมายจากคำพูดของเธอได้ทุกคำซึ่งถ้าจะแปลเป็นคำพูดภาษาไทยก็จะแปลว่า
        ดิฉัน  เคยนอนที่เตียงนี้  เป็นตียงสุดท้าย
        พอบอกอย่างนี้แล้วเธอก็เดินไปทางหน้าต่าง  พอเดินไปถึงหน้าต่างแล้ว...เธอก็ลอย ...ร่างสวยสง่าของเธอก็ลอยพลิ้วไสวลงทางหน้าต่างอย่างสวยงาม..
        พอร่างของเธอลับสายตาไป  พระอาจารย์สุทัศน์ก็ถามพระอาจารย์เสน่ห์และพระอาจารย์รุ่งเรืองที่ดูแลอยู่ว่า
        เมื่อกี้  เห็นผู้หญิงสวยๆที่เข้ามาพูดอะไรรึเปล่า
        ไม่เห็น  ไม่เห็นมีใครเข้ามาในห้องนี้เลย
        ทั้งสองท่านตอบยืนยันเหมือนกัน
        ไม่มีใครเข้ามาแต่ทำไมอาจารย์สุทัศน์เห็น  เห็นคนเดียว  ทั้งสองท่านที่ดูแลก็เริ่มกังวลว่าพระอาจารย์สุทัศน์นี้เห็นทีจะอาการหนักเพราะเริ่มจะเพ้อเห็นอะไรต่อมิอะไรแล้ว  อาการแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยจะรอด
        แต่ว่าเรื่องที่น่าประหลาดก็คือพระอาจารย์สุทัศน์นอนพักผ่อนอยู่ไม่นานก็กลับลุกขึ้นเดินเหินอย่างมีกำลังวังชาเหมือนคนปกติ  อาการป่วยหายไปเหมือนปลิดทิ้ง  พอให้หมอตรวจดูอาการก็ปกติดีทุกอย่าง  เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดเหลื่อเชื่อซึ่งญาติโยมที่ไปต่างก็ถึงกับงงไปตามๆกัน  แต่ทุกคนก็ยินดีที่ท่านสามารถร่วมเดินทางเข้าไปในอัฟกานิสถานด้วยกัน  ไม่ต้องนอนรออยู่ที่นี่อีกต่อไป
        ทั้งหมดได้เดินทางจากเมืองปีชะว่อ ประเทศปากีสถานเข้าไปในอัฟกานิสถานโดยทางรถยนต์  ในตอนเช้าที่รถแล่นเข้าไปในทางช่องแคบไฟเบอร์จะเห็นวิวสวยมาก  แม้ว่าขณะนั่งอยู่ในรถจะได้รับความอบอุ่นจากเครื่องปรับอากาศ  แต่ก็รู้ดีว่าด้านนอกสองข้างทางนั้นมีแต่ความหนาวเหน็บ  เกล็ดหิมะขาวโพลนปกคลุม ป่าไม้ โขดผา และเนินเขาสลับซับซ้อน  แสงทองยามเช้าส่องต้องเกล็ดหิมะดูระยิบระยับไปหมด  เส้นทางนี้จะเลียบไปตามสันเขาที่คดโค้งก่อนจะทอดยาวผ่านที่ราบกว้างมุ่งเข้าไปสู่เมืองกาบูร์
        เมืองกาบูร์เป็นเมืองที่แลดูสะอาดตา  ตึกรามบ้านช่องอันสวยงามดูเป็นระเบียบเรียบร้อยทุกหนทุกแห่งถูกปกคลุมด้วยหิมะ  อากาศเย็นจัดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง  ตอนที่ลงจากรถยนต์กำลังจะต่อแท็กซี่ไปที่โรงแรมนั้นเด็กขนของที่มาด้วยก็เกิดทะเลาะกับแท็กซี่  เด็กนั่นเอาเท้าปิดประตูแท็กซี่ดังปัง  เจ้าแขกโชเฟอร์ก็ฉุนฉียวมากตรงเข้าไปเล่นงานเด็กคนนั้นจนเกิดตะลุมบอนกันขึ้นมา  หลายๆคนก็เป็นห่วงเด็กก็ส่งเสียงดังตะโกนว่า
        ...แสนศักดิ์  เมืองสุรินทร์ เก่งที่สุด..
        ที่ร้องอย่างนั้นก็เพราะว่าจะให้แขกกลัว  เพราะตอนนั้น แสนศักดิ์  เมืองสุรินทร์ หรือว่า ไอ้แสบ ของไทยนี่ดังมากจนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก  พอตำรวจมาก็เลิกทะเลาะกัน  ตำรวจยังไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่ามีเรื่องกันและคงเข้าใจว่าเขาพากันมามุงดูพระภิกษุเพราะไม่ค่อยจะได้พบเห็นกัน
        ช่วงที่เหตุการณ์สงบลงแล้วนั้นพระอาจารย์สุทัศน์เหลือบไปเห็นแท็กซี่คันหนึ่งมาจอดอยู่ไม่ไกลนัก  ..ใครคนหนึ่งกำลังเปิดประตูก้าวลงมาจากรถ  ผู้หญิงคนนั้นเอง..  ผู้หญิงสวยที่เคยมากระซิบกับท่านที่โรงแรมเรนโบว์ในปากีสถาน เธอหันหน้ามายิ้มให้แล้วก็เดินไป  เป็นไปได้อย่างไร  ผู้หญิงคนนี้เป็นใครกันแน่  ทำไมถึงได้บังเอิญเดินทางมาทางเดียวกัน  อยากจะบอกคนอื่นก็กลัวว่าเขาไม่เห็นเดี๋ยวจะไม่เข้าใจและคิดว่าท่านเพ้อไปแล้วจะเป็นห่วง
        โรงแรมในกรุงกาบูร์ที่ได้มาพักผ่อนนี้ก็เป็นโรงแรมชั้นดีมีบริการสะดวกสบาย  ทุกคนเข้าพักที่นี่คืนหนึ่งเพื่อเตรียมตัวไปเที่ยวชมสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่บาบิยันซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่นัก  ในช่วงนี้พระอาจารย์สุทัศน์สุขภาพดีพอนอนพักได้คืนหนึ่งแล้วตอนเช้าก็นึกอยากจะอยู่คนเดียวเลยหลบมานั่งอยู่ที่ห้องล็อบบี้ของโรงแรม
        สักครู่หนึ่งก็เหลือบไปเห็น..  เห็นผู้หญิงคนนั้นอีก  ไม่รู้ว่าเดินมาจากไหน  ในมือประคองถ้วยกาแฟเดินเข้ามาหาอย่างมีมารยาท  พอมาถึงก็วางถ้วยกาแฟลงตรงหน้าท่านเหมือนว่าจะถวายให้ท่านดื่มแล้วก็เดินออกไปจนหายลับไปทางอีกด้านหนึ่งของโรงแรม
        พระอาจารย์รุ่งเรืองเป็นห่วงก็ตามมาจนเจอก็ทักว่า
        แหม  นึกว่าหายไปไหน  ที่แท้ก็แอบมาฉันกาแฟนี่เอง
        พระอาจารย์สุทัศน์ก็ไม่รู้จะอธิบายให้ฟังอย่างไร  ดูจากท่วงทีกิริยามารยาทและรูปร่างหน้าตาของผู้หญิงคนนี้ก็สวยงามเกินกว่ามนุษย์ธรรมดา  แต่ถ้าเธอเป็นวิญญาณที่ปรากฏให้เห็นแล้วทำไมแก้วกาแฟก็ยังเห็นตั้งอยู่ตรงหน้า  กาแฟก็ยังร้อนกรุ่นอยู่ซึ่งพระอาจารย์รุ่งเรืองก็เห็น  ท่านก็ไม่ได้ฉันกาแฟถ้วยนั้นเพราะท่านถือตามพระวินัยคือจะไม่ฉันของที่ไม่ได้ประเคนถวาย
        เช้านั้น ก็ออกจากโรงแรมที่เมืองกาบูร์พากันหอบหิ้วสัมภาระไปขึ้นรถบัสซึ่งจะพาไปเที่ยวที่บาบิยัน  ทุกคนก็รู้ว่าอากาศหนาวแสนหนาวแต่ก็ตั้งใจว่าจะไปชมความหัศจรรย์ที่นั่นให้ได้  ตอนขึ้นรถเด็กขนของก็ทำท่าว่าจะทะเลาะกับแขกอีกเพราะเรื่องแย่งที่นั่งกันทางพระก็เลยไปช่วยห้ามแล้วสอนว่า
        เราเป็นชาวพุทธ  ต้องรู้จักเสียสละ
        เด็กนั้นก็เชื่อเรื่องจึงสงบลง
        พระอาจารย์สุทัศน์นั่งอยู่ในรถมองออกไปสองข้างทางเห็นมีแต่หิมะ  กวาดสายตาสำรวจคนในรถเห็นผู้ร่วมทางมีหน้าตาผิวพรรณและการแต่งกายที่ดูแตกต่างกันไป  พอมองไปทางเบาะอีกด้านหนึ่งก็เห็นผู้หญิงคนนั้นสวมเสื้อคลุมยาวเอาผ้าโพกหัวและคลุมหน้าด้วยผ้าบางๆ  ผู้หญิงคนนี้อีกแล้ว..
        ท่านจำได้  มองจากอากัปกิริยาแล้วคิดว่าต้องใช่แน่นอน  ด้วยความเคยชินที่เป็นพระปฏิบัติกรรมฐานก็จะเหลือบมองแค่เพียงแวบเดียวเท่านั้นแต่ในใจก็ยังคงคิดอยู่ว่าอยากจะดูหน้าให้ชัดๆอีกสักทีเหมือนกัน  เธอเป็นใครทำไมถึงบังเอิญพบอยู่เรื่อย  พบที่ปากีสถาน  พอมาถึงอัฟกานิสถานก็มาถึงพร้อมๆกัน  พักในโรงแรมเดียวกัน  พอไปบาบิยันก็ไปรถคันเดียวกันอีก  นึกๆไปก็อยากดูให้ชัดๆก็เลยค่อยๆเหลือบไปมอง
        เหมือนกับรู้ใจ..  ผู้หญิงคนนั้นก็หันมาแล้วค่อยๆเอื้อมมือเปิดผ้าคลุมหน้าบางๆนั้นออกให้ดูหน้า..  ใช่แล้ว.....ชัดเจนที่สุด..  ดวงหน้าที่มีความงามเป็นเลิศ..  เธอมองมาที่ท่าน  ยิ้มให้ท่านอย่างหยาดเยิ้ม..
        พระอาจารย์สุทัศน์ถอนสายตากลับมาทันที  คิดอยู่ว่าทำไมนะคนอื่นถึงไม่เห็น  เธอมีจุดประสงค์อะไร  ดูเหมือนว่าท่านเริ่มจะเข้าใจอะไรได้รางๆจากแววหยาดเยิ้มของดวงตาคู่นั้น
        เมื่อพบกันครั้งแรกแล้วก็ลอยพลิ้วลงจากหน้าต่างเหตุการณ์ก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเธอไม่ใช่คน  แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับท่านเพราะว่าการที่ผู้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานมักจะเห็นวิญญาณต่างๆก็เป็นเรื่องธรรมดา  แต่เรื่องที่น่าคิดก็คือเรื่องของกรรมที่ทำให้มีวาระที่จะต้องได้มาพบกัน  เมื่อเธอแสดงไมตรีออกมาอย่างผูกพันลึกซึ้งอย่างนี้  ด้วยจิตประดิพัทธ์รักใคร่ตามวิสัยของผู้ใฝ่หากามราคะอย่างนี้  มันก็สุดวิสัยที่สมณะผู้มุ่งสละโลกจะสนองตอบเธอได้
        เมื่อไปถึงบาบิยัน  ทุกคนก็ตื่นเต้นกับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกคือภูเขาใหญ่ทั้งลูกถูกสลักเสลาให้เป็นพระปฏิมาสวยงามมากเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  น่าอนุโมทนากับผู้ที่มีความพากเพียรพยายามในการก่อสร้างยิ่งนัก  ที่ด้านหลังขององค์พระนั้นจะเป็นแนวภูเขาเจาะเป็นถ้ำได้แปดถ้ำ  ไม่ได้ประดิษฐานอะไรไว้แต่ก็สันนิษฐานว่าคงตั้งใจจะสร้างเพื่อประดิษฐานพระอรหันต์แปดทิศนั่นเอง  อากาศที่นี่หนาวมาก  ระดับหิมะสูงท่วมหัวเข่าม้าเย็นเฉียบจับกระดูกแต่ทุกคนก็ปลื้มปิติจนลืมความหนาว  พากันไปหอบเอาหิมะมาก่อเป็นเจดีย์เป็นพุทธบูชา
        พระอาจารย์สุทัศน์ทอดสายตายาวไกลมองเลยผ่านไปด้านหลังองค์พระปฏิมา  ..ผู้หญิงคนนั้นยืนอยู่ที่นั่นคนเดียว
        ที่นี่ไม่มีโรงแรม จะมีก็แต่ที่พักข้างทางเท่านั้น  พอค่ำลงต้องพากันก่อกองไฟ  แม้แต่กิ่งไม้แห้งก็มีราคาเอามาชั่งกิโลขายซึ่งคนซื้อก็จำเป็นต้องซื้อ
        พระอาจารย์สุทัศน์ได้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับการมาปรากฏตัวของวิญญาณหญิงสวยผู้นี้ด้วยสติปัญญาแล้วจึงได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะขออโหสิกรรมต่อเธอจะได้ไม่ต้องผูกพันกันแบบนี้อีกต่อไป  ท่านจึงได้สำรวมจิตให้เป็นสมาธิแล้วบอกกล่าวกับดวงวิญญาณของเธอไปว่า
        .....ถ้าหากอาตมาเคยมีเวรกรรมผูกพันกับเธอมาก่อนก็ขอให้หมดเวรหมดกรรมกันในชาตินี้เถิด  แม้นหากกุศลใดได้เกิดขึ้นแล้วจากการที่อาตมาได้อุทิศตนบวชในพระพุทธศาสนา  ได้เจริญภาวนาเพื่อให้ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งทุกข์  ขอให้เธอจงมีส่วนได้รับกุศลผลบุญนั้น  ขอจงตั้งจิตน้อมอนุโมทนาแล้วรับเอาส่วนบุญส่วนกุศลเพื่อประโยชน์สุขแห่งตนและอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย.....
        นับตั้งแต่วันที่ได้ตั้งจิตขออโหสิกรรมต่อวิญญาณของผู้หญิงคนนี้แล้วก็ไม่เคยพบเห็นว่าเธอมาปรากฏตัวอีกเลย  ก็น่าแปลกที่ว่า ร่างกายของท่านกลับอ่อนแอลง มีอาการไออยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่เดินทางกลับจาก...บาบิยัน..

ผลงานของ : ชุนคำ  จิตจักร
ลงพิมพ์ในนิตยสารมหามงคล ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2553

พระพุทธรูปแห่งบาบิยัน วิกิพีเดีย
หุบเขาบาบิยัน http://board.postjung.com/558970.html